วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ร่างนโยบายการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ร่าง)นโยบายการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง

1. วัตถุประสงค์
เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางวิธีการประยุกต์ใช้กับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนสำหรับตำรวจหน่วยในสังกัด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นภายใต้กรอบของกฎหมายและแบบธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข ในแต่ละสถานการณ์ให้เหมาะสมกับการยอมรับของสังคมและประชาคมโลก

2. นโยบายหลัก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชน ดังนี้
2.1 เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของบุคคล สังคม สถาบันหลักของชาติ และประเทศชาติเป็นส่วนรวม
2.2 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน สังคม และประเทศชาติ
2.3 เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ไม่รบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ
2.4 เน้นการป้องกันการชุมนุมเรียกร้องโดยการลดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และปฏิบัติการด้านการข่าว การใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการรอแก้ปัญหาเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องแล้ว โดยการใช้กำลังและหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาแบบสันติวิธีหรือพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง หากจำเป็นต้องใช้กำลังจะใช้ตามกรอบแนวทางกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและหลักปฏิบัติที่เป็นสากล
2.5 เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อย ขจัดความขัดแย้งในชุมชนด้วยระบบการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็งด้วยระบบการตำรวจชุมชนหรือการใช้วิทยากรกระบวนการ มีการจัดองค์กรประชาชนอย่างเป็นระบบให้มีความสำนึกต่อความสงบของชุมชนและของชาติโดยส่วนรวมเพื่อให้ข่าวแก่ทางราชการได้ตั้งแต่เริ่มมีเงื่อนไขหรือสิ่งบอกเหตุ ก่อนที่การชุมนุมเรียกร้องยังไม่ก่อตัวขึ้น
2.6 ส่งเสริมขวัญและกำลังใจ ภาพพจน์ของตำรวจ รักษาและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยและบุคลากรให้มีความสามารถอยู่ในสายงานหรือทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบหรือการชุมนุมเรียกร้องให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลง

3. คำจำกัดความ
3.1 การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หมายถึง การใช้เทคนิคและวิธีการในการรักษาความสงบการชุมนุมเรียกร้องที่ถูกต้องตามกฎหมายในที่สาธารณะ ทั้งก่อนการชุมนุม ระหว่าง และหลังการชุมนุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยรวมถึงการให้บรรลุภารกิจนี้โดยการประสานงานกับผู้จัดการชุมนุม หรือแกนนำและการสรุปวิจารณ์ปรับปรุงผลการปฏิบัติ
3.2 การควบคุมฝูงชน หมายถึง เทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่ผิดกฎหมาย โดยรวมถึงวิธีการแสดงกำลังของตำรวจ การควบคุมพื้นที่การชุมนุม เทคนิคการสลายการชุมนุม และวิธีการจับกุม หรือวิธีการอื่นใดในการรักษาความสงบหรือบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย
3.3 การชุมนุมเรียกร้องตามกฎหมาย หมายความรวมถึง รูปแบบการรวมตัวกันและแสดงออกเพื่อที่จะแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อื่นทั้งโดยคำพูดและที่ไม่ใช่คำพูด เช่น การปราศรัย การชุมนุมประท้วง การยืนประท้วงป้องกันแนว การยกถือป้าย การแสดงหุ่น หรือการร้องเพลง โดยการแสดงออกเหล่านี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ไม่รบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด
3.4 การชุมนุมเรียกร้อง หมายความรวมถึง การชุมนุมของคนเป็นจำนวนมากในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งต้องใช้กำลังตำรวจในการจัดการจราจร จัดระเบียบการชุมนุม ควบคุมฝูงชนในส่วนที่ไม่เป็นระเบียบ การสลายฝูงชนหรือการปฏิบัติต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในสถานการณ์การชุมนุมรวมตัวของกลุ่มคน โดยอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดในเรื่อง ดังนี้ เช่น การเดินขบวน การประท้วง การผละจากห้องเรียน หรืองาน การรวมกลุ่มหรือการนั่งประท้วงรวมตัว โดยปกติกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดจุดสนใจของประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมหรือผู้ที่เดินผ่านไปมา สื่อมวลชน หรือกลุ่มประชาชนที่อาจมีความคิดไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม
3.5 สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้อง ในนโยบายนี้ให้มุ่งเน้นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้อง และอาจรวมถึงการชุมนุมเพื่อดูการแข่งขันกีฬา เทศกาลสำคัญ การแสดงคอนเสิร์ตหรือดนตรี การรวมพลังเลี้ยงสังสรรค์ การรวมตัวแสดงพลังทางการเมืองหรือแสดงพลังต่างๆ หรือการรวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองแล้วกลุ่มชนดังกล่าวมีข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นจากวัตถุประสงค์แรกที่มารวมตัวกัน

4. หลักการ
4.1 การรักษาความสงบเรียบร้อยเหตุชุมนุมเรียกร้องเป็นหน้าที่ของตำรวจ
เมื่อเกิดเหตุชุมนุมเรียกร้องทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นทันทีไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนหรือเป็นงานที่กำหนดขึ้น เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก การแข่งขันกีฬานานาชาติต่างๆ เป็นต้น แล้วมีการชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้น
4.1.1 หากพื้นที่การชุมนุมเรียกร้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นรับผิดชอบในการรักษาความสงบตามกฎหมายโดยตรงก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจที่ต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เช่น ทหาร ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในขณะที่ยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึก หรือการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 แต่หากมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวข้างต้นจะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายอื่น เช่น ฝ่ายทหารให้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นต้น หรือกรณีประเด็นในการชุมนุมเรียกร้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานอื่นมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโดยตรง เช่น การชุมนุมเพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน ซึ่งมีหน่วยงานฝ่ายแรงงานรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงานโดยเฉพาะ บทบาทหน้าที่ของตำรวจควรจำกัดขอบเขตเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของการชุมนุมเรียกร้องรวมทั้งดำเนินการให้การชุมนุมเรียกร้องไม่ไปกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่น เช่น กีดขวางการจราจร
4.1.2 แม้ว่าตำรวจจะมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาในการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา แต่หากพื้นที่การชุมนุมเรียกร้องหรือที่จัดงานเป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานอื่นเฉพาะ เช่น ในเรือนจำที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีอำนาจเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2497 มากกว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานตำรวจก็ยังมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเตรียมพื้นที่หรือจัดการจราจรรอบบริเวณที่เกิดเหตุการชุมนุมเรียกร้อง และเตรียมการช่วยเหลือสนับสนุนเจ้าหน้าที่อื่นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่พิเศษนั้น

4.2 ผู้อนุมัติหรือเห็นชอบการใช้กำลังขั้นสุดท้าย
ให้หน่วยตำรวจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องในภาพรวมของจังหวัดโดยเป็นแผนของจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ส่วนในส่วนกลางให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดทำแผน โดยให้ระบุในเรื่องต่อไปนี้
4.2.1 ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นไป เพื่อเป็นองค์กรในการสนับสนุนให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของจังหวัด หรือของส่วนราชการ ตามแผนหรือคำสั่งที่ได้กำหนดไว้ หากไม่มีคณะกรรมการชุดนี้ ควรเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้คณะกรมการจังหวัด ตามนัยมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ เพื่อ
1) กำหนดนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ หรือภารกิจ การแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง ให้ ผู้บัญชาการเหตุการณ์นำไปปฏิบัติในแต่ละเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้อง
2) แก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องในระดับยุทธศาสตร์ เช่นการแก้ไขเงื่อนไขการชุมนุมเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานตำรวจ
3) หากยังไม่มีการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมอบหมายผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ชัดเจน ซึ่งผู้บังคับบัญชาตำรวจอาจไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หน่วยตำรวจก็ยังมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมเรียกร้อง
4)จัดตั้งชุด แถลงข่าวร่วม เพื่อมีหน้าที่แถลงข่าว ติดต่อประสานกับสื่อมวลชน
5) จัดตั้งหรือกำหนด ศูนย์ปฏิบัติการหลัก เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน ศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ กฎหมาย กำลังพลเพิ่มเติม อุปกรณ์เครื่องมือ หรือการส่งกำลังบำรุง ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน) ร้องขอ
6) ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ควรต้องปฏิบัติงานเฉพาะใน ศปก.หลัก โดยเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำเนินงานในกรอบระดับ ยุทธศาสตร์ (ระดับทอง) จะไม่ไปควบคุมสั่งการที่ ศปก.สน.ที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุหรือพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติงานของ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ฝ่ายอำนวยการ และผู้บังคับบัญชาหน่วยที่ร่วมปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินงานในระดับ ยุทธการ(ระดับเงิน) หรือลงไปสั่งการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่การชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่หรือหน้าที่ที่แก้ไขปัญหาเหตุชุมนุมในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นผู้มีหน้าที่ระดับ ผู้ปฏิบัติงาน (ระดับบรอนซ์)

4.2.2 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ชุมนุม เป็นผู้เห็นชอบหรืออนุมัติใช้กำลังขั้นสุดท้าย เช่นผู้ว่าราชการจังหวัด สมุหราชองครักษ์ หรือประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานสำคัญนั้น
แม้ว่าผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นโดยหน้าที่งานประจำ เช่น เวรอำนวยการประจำสถานีตำรวจซึ่งมียศสูงสุดในสถานที่เกิดเหตุนั้น หรือตำรวจที่ได้รับมอบหมายหรือมีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย สืบสวนสอบสวนจับกุมตามกฎหมาย ในกรณีที่จะต้องใช้กำลังขั้นสุดท้าย หากมีเวลาที่ทำได้ ควรจะต้องขออนุมัติแผนให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละพื้นที่ หรือตามกฎหมายเฉพาะแต่ละพื้นที่ หรือหน่วยงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังขั้นสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาฝูงชนได้อนุมัติหรือเห็นชอบก่อนตามหลักของความรับผิดชอบตามหลักกฎหมายปกครอง ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ หรือกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของข้าราชการ หรืออาจจะมีผลกระทบทางด้านการเมือง ก็ควรจะเสนอแผนการใช้กำลังขั้นสุดท้ายให้ผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมืองเห็นชอบก่อน และการสั่งการอนุมัติ เห็นชอบ หรือนโยบายนี้ ต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากการดำเนินการดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์รับผิดชอบจัดทำคำสั่งความเห็นชอบ หรือคำสั่งอนุมัติแผนดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

4.3 การวางแผนขั้นต้น
4.3.1 ให้ตำรวจพึงยืดถือหลักการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในการรวมตัวกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เช่น การเดินขบวน การชุมนุมเรียกร้อง การประท้วง การรวมกลุ่มเดินทางหรือกิจกรรมอย่างอื่นในลักษณะเช่นเดียวกันที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลทางกฎหมายเพื่อการป้องกันเกี่ยวกับ ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย หรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆของบุคคลอื่นเช่น เสรีภาพในการเดินทาง ตำรวจจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา กลุ่มการเมือง เชื้อชาติ เพศ ความพิการทางร่างกายหรือเงื่อนไขใด ๆ
4.3.2 ให้ใช้สายตรวจตำบล ตำรวจประจำตู้ยาม และหน่วยย่อยของตำรวจที่ประจำในแต่ละพื้นที่ ใช้ระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารประจำสถานีตำรวจ (ศขส.สน/สภ) เป็นเครื่องมือให้มีระบบการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง ต่อการชุมนุมเรียกร้อง รายงานประชุมความมั่นคงอำเภอทุกเดือน หน่วยตำรวจระดับอำเภอรายงานการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุชุมนุมเรียกร้อง ถ้าไม่มีให้จัดลำดับความเสี่ยง หรือกลุ่มที่น่าเฝ้าระวัง หรือมีเงื่อนไขใดที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ต่อการนำมาเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมเรียกร้อง ตามแนวทางในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒
4.3.3 ให้ใช้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ หรือทำจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องเฉพาะพื้นที่ไว้ตามแนวคิดระบบการบัญชาการเหตุการณ์ โดยต้องมีฝ่ายบังคับบัญชา ฝ่ายอำนวยการ และหลายหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่ความรู้ในด้านต่างๆ มาร่วมวางแผนจัดการแก้ไขเหตุชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน หรือการก่อความไม่สงบโดยประชาชน ให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนได้รวดเร็ว
4.3.4 การตัดสินใจเกี่ยวกับการสลายฝูงชน กลยุทธ์เกี่ยวกับการปิดล้อมที่ชุมนุมหรือการจัดให้ฝูงชนเคลื่อนย้ายไปในทิศทางอื่น การจับกุมแกนนำหรือการจับกุมขนาดใหญ่ หรือการใช้กำลังที่ต้องมีการวางแผนจะต้องดำเนินการในระดับของผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือสูงกว่า หากการตัดสินใจหรือคำสั่งดังกล่าวได้กระทำขึ้นเหนือกว่าระดับผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัจจัยหรือสถานการณ์ของการชุมนุมและผลกระทบหรือความเป็นไปได้หรือการยอมรับได้ของสังคมในการตัดสินใจสั่งการดังกล่าว คำสั่งหรือการตัดสินใจใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวจะต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลงเวลา ผู้ตัดสินใจหรือสั่งการ และระบุคำสั่งหรือข้อตัดสินใจอย่างชัดเจน เอกสารหรือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวจะต้องจัดทำขึ้นในเวลาที่ตัดสินใจหรือสั่งการเท่าที่ทำได้เร็วที่สุดในการลงบันทึกดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมถึงคำสั่งการหรือการตัดสินใจของผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยในการควบคุมฝูงชนที่กระทำในการป้องกันต่อภยันตรายที่จะเกิดขึ้นหรือกระทำด้วยความจำเป็นโดยทันทีทันใด
4.3.5 ต้องมีการจัดฝ่ายอำนวยการ และศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า(ศปก.สน.) รวมทั้งร้องขอหน่วยงานอื่นที่อาจเกี่ยวกับการแก้ไขเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องตามเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้ข้อมูลและดำเนินกรรมวิธีแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี และร่วมปฏิบัติการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและการยอมรับได้ของสังคมในผลของการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนของตำรวจ
4.3.6 ให้หน่วยตำรวจที่รับผิดชอบแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมเรียกร้องหรือผู้วางแผนในการจัดการชุมนุม หากเป็นการชุมนุมที่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบต้องหาข่าวในเชิงรุกและดำรงการติดต่อประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะเป็นการชุมนุมที่ทำตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ตำรวจผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องเริ่มดำเนินการตามแผนในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง หรือการจัดระเบียบฝูงชนที่อาจก่อความไม่สงบขึ้น ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อได้รับรู้ว่าจะมีการชุมนุม เมื่อการติดต่อประสานงานได้เกิดขึ้น ผู้ประสานงานของตำรวจจะต้องกำหนดตัวของผู้ประสานงานหรือแกนนำที่ผู้ประสานงานจะติดต่อด้วยในการชุมนุมแต่ละครั้ง ผู้ประสานงานฝ่ายผู้ชุมนุมจะได้รับการขอร้องให้ติดต่อประสานงานกับผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยควรจะเป็นผู้ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้มอบหมายหรือผู้ที่สามารถแจ้งความเคลื่อนไหวให้แก่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ตลอดเวลา หากการติดต่อประสานงานดังกล่าวไม่เป็นผล ต้องเป็นความพยายามของหน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบจะต้องติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ “การให้ได้ข่าวสารว่าผู้ชุมนุมจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ได้มากที่สุดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี การปฏิบัติการข่าว และการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ อันจะทำให้การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องได้ผลมากขึ้นเท่านั้น”
4.3.7หากการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมล้มเหลวกลางคันจะต้องไม่มีการแสดงออกถึงการตอบโต้ในเชิงลบต่อกลุ่มผู้ชุมนุมจากฝ่ายตำรวจ
4.3.8 การติดต่อประสานงานระหว่างผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายผู้ชุมนุม จะดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งแม้ว่าจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายหรือใช้กำลังต่อกลุ่มผู้ชุมนุมก็ตาม
4.3.9 การชุมนุมเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด โดยหน่วยตำรวจไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน เมื่อหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบรู้ถึงการชุมนุมเรียกร้องเมื่อใดให้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายและการจัดการในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทันที ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องใช้ข้อมูลจากผู้แทนของกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ในการวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่รู้ล่วงหน้าและที่ไม่รู้ล่วงหน้า
4.3.10 ตำรวจจะต้องรักษาวินัยและแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลางทั้งคำพูดและการปฏิบัติแม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือต่อต้านสังคม พฤติกรรมการแสดงออกถึงความไม่มีวินัยและไม่ใช่มืออาชีพจะเป็นการจุดชนวนทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดนำไปสู่การควบคุมเหตุการณ์ได้ยากหรืออาจเป็นอันตรายเพิ่มมากขึ้น การกำกับดูแลและควบคุมสั่งการอย่างใกล้ชิดมีความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจร่วมของตำรวจหลายหน่วย หรือการปฏิบัติในยุทธวิธีต่างๆของตำรวจ การทำงานเป็นหมู่คณะและการใช้ภาวะผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมและทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ตำรวจที่ปฏิบัติงาน การกระทำของตำรวจแบบใช้อารมณ์หรือการกระทำโดยพลการของตำรวจแต่ละคนเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
4.3.11 จะต้องจัดให้มีตำรวจไปสังเกตการณ์ ณ จุดสูงข่ม หรือจุดที่สามารถสังเกตการณ์เพื่อรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทุกขณะ
4.3.12 ที่ตั้ง ศปก. สน. และเส้นแนวเขตการเจรจาขั้นสุดท้าย หรือแนวที่จะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านไปเพื่อการป้องกันเหตุร้าย หรือป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปนั้น จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมประท้วงที่มีการต่อต้าน หากเป็นไปได้ต้องมีการแยกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ “การจัดต้อง ศปก.สน. ได้เร็วและทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น จะทำให้ภารกิจการควบคุมฝูงชนสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”
4.3.13 การสืบสวนหาข่าวเพื่อให้ทราบว่าการชุมนุมมาจากกลุ่มใด เรียกร้องเรื่องใดเป็นปัจจัยที่สำคัญสุดที่จะกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของตำรวจได้ตรงกับลักษณะของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการแปรเปลี่ยนตั้งแต่การให้ความร่วมมือกับตำรวจ การไม่ให้ความร่วมมือจนถึงการด่าทอหรือทำร้ายตำรวจ การชุมนุมเรียกร้องที่มีการจัดตั้งกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรงจะต้องมีการแยกแยะ และการปฏิบัติของตำรวจที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่ทำผิดกฎหมายกับผู้ที่ไม่ทำผิดกฎหมายระหว่างการชุมนุม

5. ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชา
5.1 เมื่อมีภารกิจในการจัดการเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน หรือการรักษาความสงบหรือความปลอดภัยในการจัดงานสำคัญ โดยหลักการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะสั่งการให้หน่วยในสังกัดจัดกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ไป “ขึ้นควบคุมการปฏิบัติ” ตามนัยมาตรา ๑๕ วรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ไม่ว่าหน่วยนั้นจะเป็นหน่วยกำลังตำรวจทั่วไปหรือหน่วยสนับสนุนทางเทคนิค
5.2 เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ หน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบหรือเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้รับการสนับสนุนกำลังพลจากหน่วยงานอื่น มาร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่ากำลังพลดังกล่าวจะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือในขณะที่ยังไม่ได้ใช้กฎหมายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ดังนั้น การมอบหมายภารกิจ ควรต้องมอบให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจ ในการปฏิบัติภารกิจตามคุณลักษณะของหน่วย ภายใต้การควบคุมการสั่งการของผู้บังคับบัญชาตำรวจ ไม่ควรมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานให้มีลักษณะการมอบความรับผิดชอบโดยการแบ่งพื้นที่เด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดปัญหาด้านกฎหมายได้
5.3.ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ควรต้องได้รับมอบกำลังพลที่มาร่วมปฏิบัติงานในลักษณะ “ขึ้นควบคุมการปฏิบัติหรือขึ้นควบคุมทางยุทธการ” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตำรวจหรือข้าราชการอื่น หรืออาสาสมัครก็ตาม เพื่อให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา สั่งการใช้หน่วยที่มาร่วมปฎิบัติได้ทุกหน่วย ในการปฏิบัติภารกิจ โดยไม่ต้องกังวลกับการ ส่งกำลังบำรุง การธุรการและกำลังพล การรักษาวินัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ หน่วยที่มาร่วมปฏิบัติ และ ศปก.หลัก ที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการ

6.แนวทางการใช้หน่วยทางยุทธวิธี
6.1.ผู้ที่ร่วมปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนทั้งหมด ควรต้องเข้าใจและทำตามกรอบบทบาทและหน้าที่แต่ละระดับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน การก้าวก่ายหน้าที่ของแต่ละระดับ โดยแบ่งออกดังนี้
6.1.1 ระดับยุทธศาสตร์ (ระดับทอง) คือผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขึ้นไป ซึ่งรวมถึง ฝ่ายอำนวยการเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ใน ศปก.หลัก ผู้บังคับบัญชาทั้งในระดับหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัด และส่วนกลาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด
สมุห์ราชองครักษ์ รองสมุห์ราชองครักษ์ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาฝ่ายการเมืองเช่น รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี โดยผู้มีหน้าที่ในระดับนี้ควรต้องมอบนโยบายหรือสั่งการหรือแก้ไขปัญหาในระดับยุทธศาสตร์
6.1.2 ระดับยุทธการ (ระดับเงิน) คือ ผุ้บัญชาการเหตุการณ์ ลงไป (ผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นผู้ที่อยู่ในระดับยุทธศาสตร์ และยุทธการ แต่ไม่ใช่ระดับผู้ปฏิบัติงาน) หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาฝ่ายปฏิบัติหัวหน้าหน่วยงานที่มาร่วมปฏิบัติหรือผู้แทนหน่วยที่มาร่วมปฏิบัติ ฝ่ายอำนวยการ และเจ้าหน้าที่ประจำ ศปก.สน.ทุกคน ซึ่งไม่มีหน้าที่ไปควบคุมสั่งการในพื้นที่ปฏิบัติการโดยตรง (ต้องเสนอแนะหรือสั่งผ่าน ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยที่ปฏิบัติการในพื้นที่ หรือตามหน้าที่พิเศษ) แต่มีหน้าที่นำคำสั่งการหรือยุทธศาสตร์หรือนโยบายของระดับยุทธศาสตร์ มาแสวงข้อตกลงใจ วางแผนให้สำเร็จภารกิจ
6.1.3 ระดับผู้ปฏิบัติงาน (ระดับบรอนซ์) คือ หัวหน้าหน่วยหรือผู้บังคับบัญชา หน่วยที่ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแก้ปัญหาเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือควบคุมฝูงชนในระดับพื้นที่ หรือหน้าที่พิเศษทั้งหมด (หัวหน้าหน่วยหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้แทนหน่วย หน่วยปฏิบัติที่มาร่วมปฎิบัติงานโดยตรง จะเป็นทั้งระดับยุทธการและระดับผู้ปฏิบัติงานด้วย) มีหน้าที่บทบาทในการนำแผนของระดับยุทธการมาปรับใช้ตามยุทธวิธีที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ โดยใช้ระบบหลักการระเบียบการ นำหน่วยเป็นกรอบในการเตรียมกำลัง อุปกรณ์ วางแผนการปฏิบัติของหน่วยกำลัง การตรวจพื้นที่ และการฝึกซ้อม
6.2 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ จะต้องคำนึงถึงขีดจำกัด ขีดความสามารถและใช้หน่วยงานในการแก้ไขปัญหา ตามคุณลักษณะของหน่วย เช่น กองร้องควบคุมฝูงชนของ ตำรวจนครบาล ซึ่งมีภารกิจ หน้าที่และอุปกรณ์ประจำการในการควบคุมฝูงชนมากกว่าหน่วยอื่น และได้รับการฝึกการควบคุมฝูงชนมาโดยตรง ควรต้องออมกำลังไว้ เพื่อใช้ในการสลายฝูงชน ด้วยอุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ เช่นแก๊สน้ำตา หรือใช้รูปขบวนในการสลายฝูงชน ซึ่งการใช้หน่วยตำรวจที่เป็นหน่วยตำรวจในพื้นที่ ที่รู้จักคุ้นเคยกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือที่มีการปะทะด่าทอกับกลุ่มผู้ชุมนุมมาก่อน หรือปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบด้วยการยืนยามมาก่อนเป็นเวลานาน ไม่ควรใช้หน่วยเหล่านี้ ในการใช้กำลังขั้นสุดท้ายเช่นการสลายฝูงชน หรือจับกุมผู้ชุมนุม หากไม่จำเป็น

7. การรักษาความสงบการชุมนุมเรียกร้อง
7.1 ต้องเตรียมกำลังให้พร้อมที่จะจับกุมแกนนำและจับกุมขนาดใหญ่ เมื่อมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ให้พร้อมที่จะจับกุม แต่ต้องเตรียมกำลังให้พ้นจากสายตาของกลุ่มผู้ชุมนุม และการแสดงกำลังนี้จะต้องไม่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้ชุมนุมที่ยังไม่มีการทำผิดกฎหมาย
7.2 โดยทั่วไป การรักษาความสงบในการชุมนุมเรียกร้อง ตำรวจต้องทำงานเป็นหมู่ ขึ้นไป จะไม่แยกปฏิบัติเป็นรายบุคคล
7.3 ตำรวจผู้ปฏิบัติงานจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือควบคุมฝูงชนต้องติดเครื่องหมายยศ สังกัด ป้ายชื่อ ให้มีความสูงของตัวอักษรอย่างน้อย ๒ นิ้ว บนด้านนอกของเครื่องแบบหรือบนหมวก ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบ ถึงชื่อ และสังกัดได้ ได้ชัดเจนในระยะพอสมควร
7.4 การใช้กำลังเข้าควบคุมฝูงชนหรือการสลายฝูงชน ถ้าเป็นไปได้ ต้องใช้หน่วยที่ได้รับการฝึกมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยตรง ไม่ควรใช้กำลังตำรวจสายตรวจที่สนธิกำลังมาเพื่อการสลายฝูงชน
7.5 ไม่ว่าการรวมตัวของฝูงชน จะถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ตำรวจจะต้องอำนวยความสะดวกการจราจร และจัดการไม่ให้ฝูงชนกีดขวางการจราจร ในการชุมนุมเรียกร้องที่ไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องตัดสินใจโดยดูจำนวนผู้มาชุมนุมว่าจะให้เดินหรืออยู่บนทางเท้า หรือจะให้ใช้ถนนช่องทางใดช่องทางหนึ่ง โดยพิจารณาปัจจัยความสมดุลระหว่างสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในที่สาธารณะ กับการกีดขวางการจราจรและการกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและส่วนรวมในการเดินทาง ตำรวจต้องติดต่อกับผู้ประสานหรือแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเจรจา การจัดการจราจรมีความจำเป็นทั้งการรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม และช่วยในการควบคุมพื้นที่ชุมนุม การจำกัดผลกระทบการชุมนุมและการสลายการชุมนุม
7.6 ตำรวจพึงระลึกไว้ว่าผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดเหมือนกันทั้งหมด แม้ว่าจะมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ความรุนแรงหรือทำลายทรัพย์สิน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงด้วยอาจถูกกักหรือกั้นไว้ไม่ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม ดังนั้นตำรวจจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ในการจับกุมหรือใช้กำลังกับผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือมีส่วนก่อเหตุรุนแรงในระหว่างการชุมนุม
7.8 ตำรวจต้องหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือใช้คำพูดด่าทอกับกลุ่มผู้ชุมนุม การด่าทอของกลุ่มผู้ชุมนุม หรือใช้คำพูดหยาบคายด่าว่าตำรวจ ไม่เป็นเหตุเพียงพอให้จับกุมผู้ชุมนุมแต่ละบุคคล
7.9 ตำรวจจะต้องไม่แสดงอาวุธหรือกำลังว่าจะเข้าใช้กำลังในเหตุการณ์ชุมนุมที่ไม่ผิดกฎหมาย จะแสดงได้เมื่อมีการแจ้งเตือนว่าจะมีการสลายการชุมนุม หรือมีการแจ้งผู้ชุมนุมว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก่อเหตุวุ่นวาย ให้เลิกการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด
7.10 หน่วยตำรวจจะต้องไม่ส่งตำรวจเข้าไปเจรจาหรือพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีลักษณะใช้ความรุนแรง
ตำรวจจะไม่ฝ่าฝูงชนเข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมเป็นรายตัว ในพื้นที่การชุมนุมเว้นแต่ ผู้ชุมนุมที่ก่อนเหตุรุนแรงดังกล่าวได้กระทำผิดอย่างรุนแรงและคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งของผู้บัญชาการเหตุการณ์
7.11. ผู้บัญชาการเหตุการณ์และผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้ความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าภารกิจที่ได้รับมอบประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและมีความละมุนละม่อม ตามหลักการสากล โดยคำนึงสูงสุดถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพส่วนบุคคล และพยายามใช้กำลังหรืออำนาจแต่น้อยสุดถ้าทำได้ การใช้กำลังต้องเป็นไปตามกฎการใช้กำลังและสิ่งแวดล้อมหรือระดับของความจำเป็นของสถานการณ์ความรุนแรง ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เผชิญอยู่ ทั้งนี้มิได้หมายถึงการตัดสิทธิการใช้กำลังป้องกันตนเอง และการกระทำอันจำเป็นเพื่อที่จะป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่หรือตัวตำรวจเอง

8.การเผชิญเหตุการชุมนุมของประชาชน
8.1 เหตุชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน
8.1.1 ร้อยเวรป้องกันปราบปรามจะต้องไปยังที่เกิดเหตุที่มีการชุมนุมเรียกร้องโดยเร็วที่สุด และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จนกว่าจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่ามาทำหน้าที่แทน ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมสั่งการ หรือศูนย์วิทยุว่าได้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ และจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า (ศปก.สน.)ใกล้สถานที่ชุมนุม
8.1.2 ประเมินสถานการณ์ที่จำเป็นที่ตำรวจต้องเข้าจัดการเหตุการณ์เบื้องต้น ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องรายงานเรื่องดังต่อไปนี้ให้เร็วที่สุด
1) สถานที่และประเภทของกลุ่มผู้ชุมนุม ข้อเรียกร้อง
2) ผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงหรือมีการทำผิดกฎหมายหรือไม่
3) ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องประเมินว่าการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่คือการรวมตัวกันโดยความสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ในลักษณะของการกระทำอย่างใดของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นการพูดปราศรัย การยืนประท้วง การนอนหรือนั่งขวางทางเข้าออก การเดินขบวน หรือการแจกใบปลิวเป็นต้น การกระทำหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการบุกรุก การทำลายทรัพย์สิน การขัดขวางการขนส่ง การใช้เครื่องขยายเสียงโดยผิดกฎหมาย การทำร้ายหรือก่อนกวนความสงบเรียบร้อยของผู้อื่น การมีอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ เพื่อใช้ทำร้าย ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
4) กลุ่มผู้ชุมนุมที่กระผิดกฎหมายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
5) จะมีการขยายพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือหรือไม่
6) อันตรายหรือความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป ชุมชน และตำรวจจากการชุมนุมเช่น เส้นทางจราจรที่ควรหลีกเลี่ยง
7) มีการใช้รถยนต์ร่วมในการชุมนุมหรือไม่
8) ขนาดของพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
9) จำนวนตำรวจที่ต้องการในการควบคุมหรือจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องรวมทั้งหน่วยพิเศษเช่นจราจร หน่วยอาวุธพิเศษ เป็นต้น
10) ลักษณะของการเข้าที่เกิดเหตุของหน่วยที่จะมาสนับสนุน
11) จุดรวมพลและเส้นทางเข้าออก
12) จุดแถลงข่าว
13) หน่วยงานอื่นที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นรถพยาบาล รถดับเพลิง รถสุขาเคลื่อนที่

8.2 เหตุการณ์ชุมนุมที่สืบสวนหรือรู้ล่วงหน้า หรือมีกำหนดจะจัดชุมนุมไว้ก่อน
8.2.1 เมื่อได้รับข่าวว่าจะมีการชุมนุม หรือจะมีการจัดงานสำคัญเช่นการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน และมีข่าวว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมเรียกร้อง หน่วยตำรวจจะต้องมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง การแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี และดำเนินการร่างคำสั่งหรือแผนปฏิบัติการณ์ ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องรับผิดชอบในการวางแผนและประสานงานกับหน่วยทั้งหมดที่มาร่วม ซึ่งรวมถึงการควบคุมและจัดการฝูงชน
8.2.2 ปัจจัยอย่างน้อยต่อไปนี้จะต้องนำมาพิจารณาและกำหนดไว้ในแผนรักษาความปลอดภัย
1 ) แบบของเหตุการณ์ หรือการรวมตัวกันที่จะเกิดขึ้น เช่นการชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมสังสรรค์ที่มีเป้าหมายทางการเมือง หรือการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรผู้เดือนร้อนเป็นต้น
2) สืบสวนค้นหาผู้จัดการชุมนุม แกนนำ พฤติกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มผู้ชุมนุม (สงบ รุนแรง หรือให้ความร่วมมือกับตำรวจ)
3) จะมีกลุ่มต่อต้านหรือผู้ที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นหรือใช้สิ่งของขว้างทำร้ายผู้ชุมนุมได้หรือไม่
4) เหตุการณ์ชุมนุมหรือเหตุการณ์รวมตัวกันมีการแจกจ่ายสุรา หรือสิ่งมึนเมาหรือไม่
5) สถานที่จัดการชุมนุม ขนาด ที่ตั้ง ทางเข้าและออก
6) สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์ส่วนหน้า (ศปก.สน.) และจุดรวมพล
7) การชุมนุมที่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงหรือการเดินพาเหรดได้รับอนุญาต ถูกต้องหรือไม่
8) หน่วยงานอื่นได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนหรือไม่และควรต้องนำมาร่วมในการวางแผนก่อนหรือไม่ (หน่วยดับเพลิง รถพยาบาล เทศบาล จังหวัด หน่วยข่าว)
9) จะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์หลัก (ศปก.หลัก) ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการข่าว กำลังพล การส่งกำลังบำรุง และการประชาสัมพันธ์หรือไม่
10) จะต้องมีการระดมพลจากหน่วยอื่นหรือไม่ มีการเตรียมกองหนุนเมื่อมีข่าวว่าจะมีการชุมนุมเพิ่มเติม หรือมีเหตุร้ายเพิ่มมากขึ้นจากการชุมนุม มีขั้นตอนระดมพลอย่างไร
11) ควรต้องประชุมร่วมกับเจ้าภาพในการจัดงานหรือแกนนำผู้จะจัดการชุมนุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ได้มากที่สุด ข่าวสารใดที่อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการปฏิบัติงานของตำรวจก็ควรจะรักษาเป็นความลับ “ การข่าวมีความแม่นยำ เที่ยงตรงว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเท่าใด มาทำอะไร ที่ใด อย่างไร ได้มากเท่าใด ย่อมทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการเหตุมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น”
12) จำนวนกำลังพลและอุปกรณ์เพียงพอต่อการรับมือเหตุชุมนุมหรือไม่ ได้ขออนุมัติหลักการเพิ่มเติมกำลังจากหน่วยอื่นอย่างไร หน่วยงานใดจะรับผิดชอบในการส่งกำลังบำรุง ให้แก่หน่วยที่มาขึ้นควบคุมการปฏิบัติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสนับสนุนงบประมาณได้เท่าใด เมื่อใด
13) มีการขออนุมัติ “กฎการใช้กำลัง ” ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ในกรณีต่างจังหวัด) โดยอย่างน้อยต้องระบุอำนาจการอนุมัติการใช้กำลังขั้นสุดท้ายต่อกลุ่มผู้ชุมนุม โดยอาจใช้คณะผู้ทำงานระดับยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด (คณะกรมการจังหวัดตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534) หรือตามแผนของจังหวัดที่กำหนดไว้ และอาจมีการขออนุมัติใช้ “ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ” ตามการข่าวที่ได้รับไว้เช่นเดียวกับกฎการใช้กำลัง

9. บทบาทหน้าที่การวางแผนของหน่วยงานตำรวจระดับจังหวัดหรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล
9.1 รวบรวมและประเมินค่า รวมทั้งกระจายข่าวสารการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดการชุมนุมเรียกร้องในแต่ละเขตอำเภอของจังหวัดในรอบ 1 เดือน ทั้งจากหน่วยงานตำรวจ หน่วยงานอื่น หน่วยข่าวและสื่อมวลชล รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยเหนือและสถานีตำรวจได้รับทราบ สืบสวน เฝ้าระวัง ระงานสิ่งบอกเหตุการณ์จัดชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เตรียมการจัดการเหตุได้ทันเวลา และเมื่อมีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีการชุมนุมเรียกร้องให้รายงานเหตุที่น่าสนใจตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 18 บทที่ 1 ให้แก่หน่วยเหนือและหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบ สถานที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางไปชุมนุม และมอบหมายให้จัดตำรวจประสานงาน รวมทั้งประสานอำนวยความสะดวกการเดินทางของกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างทาง
9.2 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อร่วมวางแผนจัดการเหตุหรือการจัดงานที่อาจจะมี หรือดึงดูดกลุ่มผู้ประท้วง เช่นการประชุมเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก
9.3 ร่วมประชุมกับผู้ให้การสนับสนุนหรือกลุ่มแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวหรือชุมนุมเรียกร้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและตกลงหลักความปลอดภัย หรือการแก้ไขปัญหาร่วมกันตั้งแต่ต้น หากกรณีมีแผนของจังหวัด หรือข้อเรียกร้องมีกฎหมายหรือระเบียบให้ยึดถือปฏิบัติชัดเจน ควรยกเป็นประเด็นให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานเป็นหลัก เช่น พรบ.แรงงานสัมพันธ์
9.4 ประสานงานกับหน่วยงานตำรวจที่ให้การสนับสนุนเช่นหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กองตำรวจสื่อสาร กองบินตำรวจ เพื่อวางแผน
9.5 จัดทำแผนหรือคำสั่งปฏิบัติการ
9.6 ประสานงานเพื่อตรวจสถานที่ที่คาดว่าจะมีการชุมนุม หรือบริเวณแนวเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อจัดสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คาดว่าจะมี
9.7 ตรวจความพร้อมของสิ่งอุปกรณ์ในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ควบคุมฝูงชน
9.8 มอบหมายซักซ้อมชุดถ่ายภาพและชุดรวบรวมพยานหลักฐานจากกลุ่มผู้ชุมนุม

10. แผนเผชิญเหตุ
10.1 ให้ ศปก.สน.จัดทำแผนเผชิญเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามกฎการใช้กำลังและ “ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ” เช่นแผนการจับกุมแกนนำ แผนการจับกุมขนาดใหญ่ แผนการเจรจา ณ จุดเจรจาขั้นสุดท้าย แผนการใช้อาวุธพิเศษ เช่น แก๊สน้ำตา แผนการใช้รูปขบวนในการสลายการชุมนุม แผนการรวบรวมพยานหลักฐานและขอหมายจับ แผนการควบคุมและสอบสวน
10.2 นำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี ประกอบกับแผนเผชิญเหตุที่ทำไว้มาทำการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับเวลาและแนวทางของการข่าวที่คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อเหตุในลักษณะใด โดยอาจจะมีการก่อเหตุในลักษณะการก่อความไม่สงบเพิ่มเติมจากการชุมนุมในพื้นที่ชุมนุมเท่านั้น
10.3 ตำรวจควรจะเตรียมการเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการชุมนุมเรียกร้องแบบที่รุนแรงสุดหรือกลายเป็นการก่อความไม่สงบ จนถึงการจัดการในกรณีมีการชุมนุมที่ไม่ผิดกฎหมาย หัวข้อการฝึกอย่างน้อยต้องมีการฝึกเกี่ยวกับชุดเคลื่อนที่เร็ว การจัดการรักษาความปลอดภัย การเดินขบวนแบบดาวกระจาย การใช้แก๊สน้ำตา และอาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ความผิดและข้อหารวมถึงเทคนิคการรวบรวมพยานหลักฐาน การบันทึกคำปราศรัยเป็นต้น
10.4 การใช้กำลังตามแผนเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นควรจะต้องประชุมชี้แจงเกี่ยวกับหลักของกฎหมาย ความเป็นห่วงกังวลของสังคม หรือการยอมรับได้ของสังคมในการปฏิบัติ กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลัง
ต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ สายการบังคับบัญชา การจัดการจราจร

11. อาวุธและระดับกำลังที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง
11.1 อาวุธเพื่อสังหาร เช่นอาวุธปืนพก อาวุธปืนยาว โดยทั่วไปไม่อนุญาตให้ตำรวจแสดงอาวุธที่ใช้เพื่อการสังหารในการควบคุมฝูงชน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการใช้อาวุธดังกล่าวเพื่อการป้องกันภยันตรายต่อตัวตำรวจเองและผู้อื่นตามหลวักพอสมควรแก่เหตุ และหลักสิทธิมนุษยชนหรือที่ได้กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง
11.2 สุนัขตำรวจ จะไม่อนุญาตให้นำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน การตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อควบคุมพื้นที่การชุมนุม หรือการสลายฝูงชนแต่อาจนำมาใช้เพื่อการป้องกันสถานที่หรือบุคคลสำคัญ หรือการตรวจค้นวัตถุระเบิดตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการ
11.3 ม้าตำรวจ จะนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์สำคัญได้ตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการ แต่จะไม่นำมาใช้ในการสลายฝูงชนที่ไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งไม่ใช้กับฝูงชนที่นั่งหรือนอน
11.4 รถจักรยานยนต์ จะถูกนำมาใช้ในการสืบสวนหาข่าวสังเกตการณ์ การควบคุมการจราจร การควบคุมพื้นที่การชุมนุม แต่จะไม่ใช้ในการสลายการชุมนุม
11.5 อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
11.5.1 ให้ใช้อาวุธตามกฎการใช้กำลัง
11.5.2 จะไม่ยิงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุม หรือตั้งใจให้ถูกที่หัว คอ หน้า กระดูกสันหลังตรงบริเวณตับ อวัยวะเพศ เว้นแต่เพื่อการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
11.5.3 ผู้ได้รับการฝึกตามหลักสูตรมาตรฐานเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ใช้อาวุธพิเศษแต่ละชนิดได้
11.5.4 เมื่อจะใช้อุปกรณ์ทางเคมีหรืออาวุธพิเศษแต่ละชนิด จะต้องมีการเตรียมรถพยาบาลเพื่อคอยช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไว้ในที่เกิดเหตุ

12. เทคนิคการควบคุมฝูงชนและการสลายฝูงชนที่อนุญาตให้ใช้ได้
12.1ให้มีการประกาศแจ้งเตือน ว่าการชุมนุมดังกล่าวผิดกฎหมาย ให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญาที่ 216 ที่บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุ่มเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 115 ที่มั้วสุ่มกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็นว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิกต้องระวางโทษจำคุก ฯ
12.2 ให้มีการแจ้งเตือนถึงกำหนดเวลาและเส้นทางการออกจากที่ชุมนุม
12.3 นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะใช้วิธีการจับกุมแกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมออกจากที่ชุมนุมตามคำสั่งเตือนดังกล่าวมากกว่าที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุม
12.4 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะใช้กระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและการยอมรับของสังคมในการตกลงใจเลือกวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขควบคุมฝูงชน โดยคำนึงถึงปัจจัย
12.4.1 ภารกิจหรือข้อกำหนด หรือนโยบายที่หน่วยเหนือหรือผู้มีอำนาจอนุมัติใช้กำลังขั้นสุดท้ายสั่งการหรืออนุมัติให้ดำเนินการได้
12.4.2 ขนาดของฝูงชนและอาวุธหรือความรุนแรงรวมทั้งผลกระทบของการแก้ไขปัญหา
4.3 กำลังและอุปกรณ์ของตำรวจที่มีอยู่
12.4.4 เวลาที่เป็นเส้นตายหรือที่มีอยู่
12.4.5 สภาพความเกื้อกูลของสถานที่หรือพื้นที่ที่ชุมนุมรวมทั้งกระแสความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่
12.4.6 การยอมรับได้ของสังคมหรือความชอบธรรมทางกฎหมาย
12.4.7 การปฏิบัติจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่
12.4.8 หากมีการจับกุมเฉพาะแกนนำจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากกว่าการสลายฝูงชนหรือไม่
12.4.9 มีเส้นทางที่จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากที่ชุมนุมได้ปลอดภัยหรือไม่
12.4.10 ต้องมีการแจ้งเตือนหรือเจรจาตกลงกับแกนนำผู้ชุมนุมให้เข้าใจถึงการใช้ยุทธวิธีการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องมีการประกาศเป็นภาษาไทยหรือภาษาที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เข้าใจ คำสั่งแจ้งเตือนหรือการตกลงกับแกนนำนี้ ควรต้องกระทำเมื่อหน่วยตำรวจที่จะแก้ไขปัญหาฝูงชนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ได้ประกาศ
12.4.11 ต้องมีการเตรียมแผนเผชิญเหตุในกรณีที่สถานการณ์แปลเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
12.5 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องประเมินโดยใช้ระบบการแสวงข้อตกลงใจยุทธวิธีที่สถานการณ์หรือการปฏิบัติของกลุ่มผู้ชุมนุมเปลี่ยนไป
12.6 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องพิจารณาและรับผิดชอบถึงขั้นตอนที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ผ่านไปมาไม่ให้ได้รับอันตรายจากผู้ชุมนุม
12.7 เมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือผักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องแน่ใจว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ถูกผลักดันไปในพื้นที่อันตรายต่อผู้ชุมนุมเองหรือผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว เช่น ไม่ผลักดันได้กลุ่มผู้ชุมนุมไปจนมุ่ม หรืออยู่ในซอก หรือซอย กระจากแคบ
12.8 การไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องกระจายเสียงและเดินพาเหรด ในทางสาธารณตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
12.9 ถ้าการเจรจาหรือการประกาศให้ฝูงชนเลิกมั่วสุมชุมนุมตามประมวลกฎหมายอาญา 216 ไม่เป็นผล และเมื่อ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตกลงใจที่จะใช้เทคนิคในการสลายฝูงชน ตามระบบการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี จะต้องใช้เทคนิคจากเบาไม่หาหนักถ้าใช้ได้ โดยอาจจะใช้เทคนิคใจเทคนิคหนึ่ง โดยมิต้องใช้ตามลำดับตามความรุนแรงของสถานการณ์หรือความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและตำรวจดังนี้
12.9.1 การแสดงกำลังของตำรวจรวมถึงการใช้อุปกรณ์รถยนต์และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
12.9.2 ทำการปิดล้อมสถานที่ชุมนุมและจับกุมแกนนำพร้อมกันหรือจับกุมขนาดใหญ่ (จำนวนผู้ถูกจับกุมเกินกว่า 30 คนขึ้นไป)
12.9.3 รูปขบวนควบคุมฝูงชนเคลื่อนที่ กดดันฝูงชนในเคลื่อนที่ออกจากที่ชุมนุมโดยใช้โล่ และกระบอง
12.9.4 การใช้แก๊สน้ำตา หรืออุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
12.9.5 อุปกรณ์เสียงและแสงที่ทำให้ตกใจ ซึ่งอาจจะรวมถึงอุปกรณ์ที่มีแก็สน้ำตา
12.9.6 การใช้รถฉีดน้ำไล่ให้สลายจากพื้นที่การชุมนุม

13. การจับกุมและการสอบสวน
13.1 การจับกุมขนาดใหญ่
13.1.1 เมื่อต้องมีการจับกุมผู้ชุมนุมหรือแกนนำพร้อมกันหลายคน ต้องมีการวางแผน จัดกำลังตำรวจเป็นทีมจับกุมขนาดใหญ่ จัดให้มีการฝึกซ้อมการจับกุมขนาดใหญ่
13.1.2 เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการจับกุม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องแน่ใจว่ามีกำลังตำรวจเพียงพอในการจับกุมและคุ้มกัน โดยควรต้องทำการประกาศเตือนหรือผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกไปจากพื้นที่ชุมนุมก่อน แล้วจึงจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ชุมนุม
13.1.3 เมื่อต้องทำการจับกุมขนาดใหญ่ ผู้ต้องถูกจับกุมเกินกว่า 30 คนขึ้นไป จะต้องมีวางแผน ซักซ้อม เกี่ยวกับการขนส่งผู้ถูกจับกุมตามแบบฝึก ไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ถูกจับกุม ผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาล และต้องให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิและได้รับแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมอย่างครบถ้วนตามกฎหมายตามมาตรฐานสากล เช่นการได้รับการเยี่ยมตามสมควร การแจ้งการถูกจับกุม การพบทนายความสองต่อสอง มีการแยกสถานที่ควบคุม ชาย หญิง เป็นต้น
13.1.4 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องเลือกที่จะตัดสินใจ ในความจำเป็นในการจับกุมเป็นรายบุคคล หรือจับกุมพร้อมกันหลายคนหรือจับกุมขนาดใหญ่ ในฐานะเทคนิคการควบคุมฝูงชน โดยพิจารณาว่า
1)การจับกุมจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือการไม่จับกุมจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่า
2)ความรุนแรงการทำผิดกฎหมาย ถ้าไม่จับกุมแล้วจะทำให้มีความผิดเกิดมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การชุมนุมเลวร้ายขึ้นหรือไม่
3)การจับกุมเป็นรายบุคคลหรือการจับกุมขนาดใหญ่ จะทำให้การชุมนุมเลิกได้เร็วขึ้นหรือไม่
4) มีการจัดเส้นทางให้ผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายออกจากที่เกิดเหตุหรือไม่ และมีเส้นทางให้ตำรวจนำผู้ถูกจับออกจากพื้นที่ชุมนุมหรือไม่
5) มีการเจรจากับแกนนำหรือผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนหรือไม่
6) มีแผนเผชิญเหตุ หากเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นจากการจับกุม เตรียมไว้หรือไม่
7) กำลังชุดจับกุมขนาดใหญ่ จะจัดจากชุดใด หน่วยใด
13.1.5 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องมีการกำหนดให้มีการจัดเก็บพยานหลักฐานของแต่ละบุคคลที่จะจับกุมเป็นรายบุคคล

13.2 การก่อการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานหรือก่อความไม่สงบโดยผู้ชุมนุม
13.2.1 กลุ่มผู้ชุมนุมอาจก่อการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ หรือก่อความไม่สงบ เช่น นั่งหรือนอนปิดถนน ปิดทางเข้าออกสำนักงาน หรือสถานที่ราชการสำคัญ การปฏิบัติที่ดีที่สุดของตำรวจคือการแจ้งเตือนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดกฎหมาย ถ้ายังขัดขืนจะถูกจับกุมดำเนินคดี ให้ตำรวจกำหนดเวลาให้กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม หากมีบางกลุ่มยังคงปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายต่อไป ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จึงพิจารณาถึงการจับกุม การจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขัดขืนควรใช้การพูดเจรจามากกว่าการใช้กำลังตำรวจเข้าปะทะหรือบังคับ
13.2.2 ผู้ชุมนุมที่ขัดขืนการจับกุมด้วยการนั่งเฉยขัดขืนการจับกุมของตำรวจแบบนิ่งเฉย ควรต้องจับกุมแล้วใช้เครื่องพันธนาการ แล้วจึงใช้คำพูดบังคับสั่ง หรือยกตัวผู้ถูกจับขึ้น หรือการจับกดจุดให้เดินไปตามคำสั่งของตำรวจผู้จับกุม
13.2.3 หากมีกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ล็อคแขนติดกับเสาหรือรั้วหรือล็อคแขนขา ผู้ชุมนุมดังกล่าว จะได้รับแจ้งเตือนว่าจะถูกจับกุมก่อนถ้ายังคงกระทำการดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ผู้ถูกแจ้งเลิกการปฏิบัติดังกล่าว ตำรวจจึงจะเข้าไปจับกุมหรือปลดล็อคดังกล่าว หากผู้ชุมนุมไม่เลิกปฏิบัติดังกล่าว

14. การดำเนินคดี
14.1 ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายในการชุมนุม หรือมีการจับกุมผู้ชุมนุม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องจัดการให้มีการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเน้นการดำเนินคดีกับแกนนำ หรือผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง หรือกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนเป็นหลัก
14.2 การกำหนดเงื่อนไข หรือการยอมรับปาก หรือสัญญา ว่าจะไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำหรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย ควรจะได้รับการเสนอแนะโดย ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต่อ ผู้บังคับบัญชาระดับยุทธศาสตร์ หรือผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจ ว่าเป็นการสั่งการที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ และจะเป็นปัญหาในทางกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิด ทั้งทางกฎหมายอาญา ทางแพ่ง และทางกฎหมายปกครอง

15. การบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือบันทึกเหตุการณ์
15.1.เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องมีการบันทึกภาพ และบันทึกเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม ในการชุมนุมสาธารณะ โดยวิธีการที่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในที่สาธารณะ หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจตามกฎหมายในการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ โดยให้บันทึกวันเวลาที่บันทึกภาพ ไว้ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน
15.2.การเก็บภาพการชุมนุมในที่สาธารณะ ให้หน่วยงานตำรวจคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลที่จะไม่ถูกละเมิด ในการเผยแพร่ภาพที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
15.3 ให้ตำรวจประสานหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการหรือเอกชน ที่มีระบบโทรทัศน์วงจรปิดในการบันทึกภาพและเสียงการชุมนุมในที่สาธารณะไว้เป็นพยานหลักฐาน และเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุหรือใช้ความรุนแรงหรือกระทำผิดกฎหมาย เช่นพูดปราศรัยหมิ่นประมาทผู้อื่น




16. การฟื้นฟู และการช่วยเหลือเยียวยา
16. 1 ให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา จัดระเบียบสถานที่ชุมนุมและขอรับสิทธิผู้เสียหาย ตามที่แผนกำหนดไว้
16.2.หากไม่มีแผน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องจัดให้มีระบบจัดส่งผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ การส่งผู้ถูกจับกุมไปรับการรักษาพยาบาล และดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา ตามสิทธิของผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาตามที่กฎหมายกำหนด

17. การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติต่อสื่อมวลชน
17.1 หากไม่มีการแต่งตั้งโฆษกประจำหน่วยตำรวจ เมื่อมีการจัดงานสำคัญ ควรมีการแต่งตั้งโฆษกหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำสัมพันธ์ ประจำ ศปก.สน.และจัดตั้งจุดแถลงข่าว เพื่อใช้เป็นที่แถลงข่าว และรองรับสื่อมวลชน ซึ่งควรเป็นสถานที่ที่ห่างจาก ศปก.สนพอสมควร
17.2 เป็นหน้าที่ของโฆษก หรือหัวหน้าฝ่ายประสัมพันธ์ใน ศปก.สน. ที่จะต้องจัดตั้งคณะทำงานในการเตรียมการด้านการสื่อสารด้านมวลชนสัมพันธ์ หรือประชาสัมพันธ์เพื่อเป้าหมายในการทำให้ประชาชนและสังคมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ โดยจัดการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดหารือเสนอแนะแก่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้การปฏิบัติการทั้งหมดของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือการควบคุมฝูงชน มีความได้เปรียบ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสังคม และมีการสอดประสานไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
17.3 หน่วยงานทั้งหมดในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามแนวทางการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินงานทั้งมวลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ของตำรวจ เพื่อเป้าหมายในการทำให้ประชาชนและสังคมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ โดยจัดการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ ให้การปฏิบัติการทั้งหมดของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขเหตุการชุมนุมเรียกร้องหรือการควบคุมฝูงชน มีความได้เปรียบ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสังคม และมีการสอดประสานไปในทิศทางที่สอดคล้องกันในการแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
17.4 สื่อมวลชนมีสิทธิที่จะสังเกตการณ์ชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะ และสิทธิในการบันทึกภาพและบันทึกเสียงในที่สาธารณดังกล่าว
17.5 สื่อมวลชนจะได้รับอนุญาตให้ไปสังเกตในการชุมนุมและเป็นพยานที่จะบันทึกชี่อของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมได้ เมื่อมีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมายให้เลิกการกระทำการชุมนุมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 และ 216 ตามกฎหมายอาญา สื่อมวลชนที่ได้รับการบันทึกชื่อที่อยู่ สังกัด โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศปก.สน.อาจจะได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ไปบันทึกภาพการจับกุมได้ การจะจำกัดไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพหรือสังเกตการณ์การชุมนุม หรือการปฏิบัติของตำรวจในการจัดการแก้ไขปัญหาการชุมนุมก็ด้วยเหตุผลความปลอดภัยเท่านั้น
17. 6 โฆษกหรือหัวหน้าฝ่ายประสัมพันธ์ ใน ศปก.สน.ต้องจัดให้มีการแถลงข่าว ตามแผนที่กำหนด หรือตามวงรอบ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ หรือเมื่อมีข่าวลือ ให้สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์ของ ศปก.หลัก และการประชาสัมพันธ์ของ ศปก.ตร. โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการข่าวสาร เกี่ยวกับกฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสร้างความน่าเชื่อถือชอบธรรมในความจำเป็นของตำรวจในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือควบคุมฝูงชน

18.การรายงาน
18.1 เมื่อมีเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้น หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุต้องดำเนินการรายงานเหตุการชุมนุมเรียกร้อง เป็นเหตุที่น่าสนใจต้องรายงานตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 18บทที่ 1
18.2 เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องได้ยุติลง ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ รายงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการดำเนินการตามนโยบายนี้ ข้อที่ปฏิบัติได้ผลดีทำให้การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องได้ผล และข้อที่ควรปรับปรุง หรือควรนำไปเป็นบทเรียน หรือพัฒนาการฝึก หรือแก้ไขปรับปรุง ระเบียบ นโยบาย กฎหมาย ภายใน 10 วันทำการนับแต่การชุมนุมยุติลง ต่อ ศปก.ตร.ผ่าน ศปก.หลัก

19. การฝึกอบรม ประเภทครูฝึก
19.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดสรรงบประมาณ เพื่อทบทวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทำการฝึกกำลังพลใหม่ เพื่อทำหน้าที่การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือควบคุมฝูงชน และให้มีการบันทึกผลการฝึกอบรมไว้ ในสมุดประจำตัวครูฝึก หรือสมุดประจำตัวสายตรวจ ตามระบบสมรรถนะประจำตำแหน่ง ระดับ ผู้ปฏิบัติงานในระดับ ยุทธศาสตร์(ระดับทอง) ระดับยุทธการ(ระดับเงิน) และระดับผู้ปฏิบัติงาน(ระดับบรอนซ์) ตามตำแหน่งหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ใช้อาวุธพิเศษ หรืออาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ผู้ถือและใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตา ผู้ถือหรือใช้ปืนยิงกระสุนยาง
19.2 ให้กองบัญชาการศึกษา กำหนดระเบียบในการบันทึก ผลการปฏิบัติงานจริง และการฝึกอบรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง และจัดทำเนียบและประเภทครูฝึก การให้รหัสครูฝึกในการลงบันทึกการปฏิบัติและการฝึกของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน ในสมุดประจำตัวครูฝึก และสมุดประจำตัวสายตรวจตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 24 บทที่ 2
19.3 กองบังคับการตำรวจหรือ ตำรวจภูธรจังหวัด ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในระดับปฏิบัติการ ได้ผ่านการฝึกตามตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จริง ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกคน
-------------------------------------------------------------------
ตรวจแล้วถูกต้อง
พ.ต.อ.
(ณรงค์ ทรัพย์เย็น)
ผกก.ฝอ.2 บก.อก.ภ.7

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Analysis Management=ARM)
เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ณรงค์ ทรัพย์เย็น
หน่วยสืบสวนสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ได้จัดทำระบบวิเคราะห์ปัจจัยความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ ดังนี้
1.ขนาดของเหตุการณ์ รวมถึง ความต้องการกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการจัดการเหตุการณ์ ต้องใช้ทรัพยากรระดับใด จำนวนเท่าใด ถ้าเป็นขนาดเหตุการณ์ใหญ่ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น
2. ภัยคุกคามรวมถึงภัยที่อาจรู้ล่วงหน้า โดยทั้งภัยที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น การก่อการร้าย การชุมนุมประท้วง การมีกิจกรรมประท้วงเช่นจัดแข่งรถแรลลี่เพื่อปาไข่ใส่ผู้นำที่มาร่วมประชุมหรือมาเป็นประธานเปิดงาน หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ
3. ความสำคัญของเหตุการณ์หรืองานที่จัด บางเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การเมือง และหรือเป็นสัญญาลักษณ์ที่สำคัญที่อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดเป็นเป้าหมายดึงดูดให้เกิดการชุมนุมเรียกร้อง เช่น วันครบรอบเกิดเหตุการณ์ สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ต.ค. หรือเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อรำลึก 16 ต.ค.
4.ช่วงระยะเวลาเหตุการณ์ ถ้าเหตุการณ์หรือการจัดงานมีระยะเวลายาว ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ระดับความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขื้นไปด้วย
5.สถานที่ บางสถานที่ที่เกิดเหตุหรืสถานที่จัดงานเป็นสถานที่น่าชี้ชวน ดึงดูดให้บางกลุ่มเป้าหมายหรือคนร้าย อยากเข้าโจมตีหรือก่อเหตุ เช่น รัฐสภา หรือสัญลักษณ์ของเมือง หรือกลุ่มทุน เช่น อาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์นิวยอร์ค อาคารเพ็นตากอนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และหลักการทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อมแล้ว บางเมืองที่เป็นสถานที่จัดงาน มีทางเข้าออกเมืองเพียงสองทาง ควบคุมผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือมีสภาพเป็นเมืองที่ห่างจากเมืองบริวารอื่น ๆหรือเป็นเกาะกลางทะเล เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องจากเมืองอื่นมา ทางการสามารถควบคุมหรือแจ้งเตือนจัดการปัญหากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือเมืองที่จัดงานผู้คนและผู้นำทางการเมืองเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล หรือมีฐานเสียงรัฐบาลหนาแน่น ก็น่าเชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มผู้มาต่อต้านหรือคุกคามการประชุม
6. ผู้เข้าร่วมงาน หมายถึงกลุ่มคนที่มาร่วมงานหรือมาร่วมชุมนุมเรียกร้อง ว่ามีพื้นฐาน ภูมิหลังทางวัฒนธรรม การเมือง และศาสนาอย่างไร ถ้าเมืองนั้นเป็นเมืองฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาลก็น่าเชื่อว่าจะมีกลุ่มพลังมวลชนที่จะมาชุมนุมคัดค้านจากคนในพื้นที่เป็นจำนวนน้อย แต่จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก
7. การประชาสัมพันธ์หรือความสนใจของสื่อ หากมีการประชาสัมพันธ์มาก ก็จะจูงใจให้คนบางกลุ่มต้องการช่วงชิงพื้นที่ข่าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือเพื่อสร้างราคาหรือเพิ่มมูลค่าหรือค่าตัวให้กับกลุ่มหรือให้กับตนเอง โดยอาศัยเหตุการณ์ หรือกระแสความเกลียดชังของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่หรือตำรวจ หรือสร้างข่าวจากความดังของงานหรือกิจกรรมสำคัญหรือการชุมนุมที่จะจัดขึ้น
8.ความสำคัญของบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน หากมีบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ หรือ ดารามาร่วมงาน ก็จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยตามสถานะหรือระดับภัยคุกคามของแต่ละบุคคลสำคัญ ยิ่งมีบุคคลหรือดารา ที่มีผู้สนใจมาก คลั่งไคล้หรือมีกลุ่มผู้นิยม (FAN CLUB) หรือที่นิยมเรียกว่า “แฟนพันธุ์แท้” เป็นจำนวนมากเท่าใด ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อนำปัจจัยข้างต้นมารวมกันแล้วเพื่อหาค่าเฉลี่ย สามารถจัดกลุ่มของปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและนำมาหาค่าเฉลี่ยของแต่ละปัจจัยรวมได้ดังนี้
1.ภัยคุกคาม (THREAT) คือ ปัจจัยที่ 1, 2, 3, 5, 6, 7, 8 (เว้น 4 )
2.จุดอ่อน (VULNERABILITY) หมายถึง ข้อด้อยของฝ่ายเราหรือฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายจัดงาน คือปัจจัยในข้อ 1, 4 และ 5
3.ผลกระทบ (IMPACT) คือปัจจัยในข้อ 1, 3, 5 ,6 , 7 และ 8 (เว้น 4 และ 2)

หน่วยงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา(FBI)ได้คิดระบบการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Risk Management (ARM) ได้มีการนำปัจจัยทั้ง 3 ตัวมาให้ค่าระดับ 1-4
ค่าระดับ 4 หมายถึง ภัยคุกคามหรือจุดอ่อนหรือผลกระทบที่สูงสุด เช่น ผลกระทบที่ทำให้ผู้มาร่วมงานหรือบุคคลสำคัญที่มาร่วมงานถึงตาย บาดเจ็บหรือทำให้ต้องล้มเลิกการประชุม จุดอ่อนระดับ 4 เช่น ไม่มีระบบการป้องกัน และภัยคุกตามระดับ 4 คือการใช้อาวุธระดับรุนแรงมากสุด เช่น การจลาจลเผาเมือง หรือการใช้อาวุธปืนลอบยิงเป้าหมายสำคัญ
ค่าระดับ 1 หมายถึง การมีผลกระทบภัยคุกคามจุดอ่อนอย่างเบาบาง
ค่าระดับ 2 – 3 เป็นการให้ค่าแบ่งช่วงระหว่างระดับ 1 – 4 ของภัยคุกคามจุดอ่อน และผลกระทบ
สูตรการคำนวณระดับความเสี่ยง(Risk)=ผลกระทบ( Impact)Xภัยคุกคาม(Threat) x จุดอ่อน(Vulnerability) โดยเขียนเป็นสมการได้ดังนี้ R = ITV
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นการจัดประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก มีผลกระทบ(I)ต่อการลงนามลดภาษี เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการประชุมนี้ถ้าลงนามไม่ได้ ประเทศต้องมีเศรษฐกิจถดถอยตลอดไป ดังนี้ ผลกระทบควรจะมีค่าเท่ากับระดับสูงสุดคือ 4
หากมีข่าวว่าจะมีกลุ่มต่อต้านประกาศว่าจะชุมนุมประท้วงเพื่อล้มการประชุมนี้ เพราะเป็นที่ชุมนุมของผู้นำประเทศนายทุน และกลุ่มนี้เคยประท้วงล้มการประชุมรัฐมนตรีองค์การค้าโลก ที่เมืองซีแอตเติ้ลมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1999 ดังนี้ค่าภัยคุกคาม(T) ควรจะอยู่ที่ระดับสูงสุดคือ 4 และ เมืองที่จะจัดการประชุมมีลักษณะเป็นเมืองที่ผังเมืองไม่ดี มีคนจนหรือสลัมมาก แรงงานต่างด้าวมาก เข้าออกประเทศได้ง่าย อยู่ใกล้กับเมืองที่เป็นฐานของกลุ่มก่อการร้าย แต่มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ส่วนระบบตำรวจหรือการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐานสากล ตำรวจที่ฝึกและเตรียมไว้เพื่อจัดการแก้ไขเหตุชุมนุมประท้วงทั้งประเทศมีเพียง 2 กองร้อย ซึ่งขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยเช่นแก๊สน้ำตา ดังนี้ค่าของจุดอ่อนจึงควรมีค่าเท่ากับ 3 เมื่อนำทั้งสามปัจจัยรวม มาเข้าสมการ R=ITVจะเท่ากับ 4X4X3 =48 ดังนั้นค่าความเสี่ยงคือ 48จากคะแนนเต็ม 64 ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงมากสุด
การตีความค่าระดับคะแนนความเสี่ยง และคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อแก้ไขเหตุ
ระดับคะแนน
ระดับความเสี่ยง
คำแนะนำ
36-64
เสี่ยงมากสุด
1.ควรล้มเลิกภารกิจหรือการจัดงาน
2.หากไม่แก้ไขเหตุปัจจัยในการลดภัยคุกคามด้วยมาตรการด้านการข่าวหรือการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และเสริมมาตรการในการลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงสุด เช่น มีการเสียชีวิต หรือการจัดงานสำคัญนี้ต้องล้มเลิก เสียหน้าหรือเสียชื่อเสียงของประเทศ
24-35
เสี่ยงสูง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้มากตามประเด็นที่ได้สำรวจหรือสืบสวนเน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
2.ทำการฝึกซ้อมผู้บังคับบัญชา ศูนย์ปฏิบัติการ เตรียมหน่วยตำรวจ หรือหน่วยกำลังในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ให้มีความเข้มในการฝึกและผสมกับการสืบสวนเพื่อให้ทราบภัยที่จะเกิดขึ้น ทำแผนเผชิญเหตุ และฝึกซ้อมตามแผนไว้หลาย ๆ กรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ ระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
16-23
เสี่ยงปานกลาง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับความสมดุลในความคุ้มค่ากับการลงทุนและผลที่ตอบแทน
2.เตรียมการฝึกซ้อม ทำแผนเผชิญเหตุระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
8-15
เสี่ยงบ้าง
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ให้มากเพื่อสร้างภาพลักษณ์
2.ดำเนินการมาตรการด้านการข่าวเพื่อลดภัยและหามาตรการด้านการป้องกันให้เหมาะกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
1-7
เสี่ยงน้อย
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะลดภัยให้มากสุด เสริมความมีเกียรติ น่าเชื่อถือหน้าตาของหน่วยงาน เมือง และประเทศชาติ
2.สร้างความเข้าใจกับประชาชนและเสริมภาพลักษณ์ให้แก่หน่วยงาน เมือง ประเทศชาติ

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ระเบียบการนำหน่วย ผบ.ร้อยควบคุมฝูงชน

ระเบียบการนำหน่วย

หัวหน้าหน่วยกำลังที่จะต้องเข้าปฏิบัติภารกิจทางยุทธวิธี เช่นการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือไปรักษาความสงบรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ เช่นไปตั้งจุดตรวจ จุดสกัดคนร้าย รักษาความปลอดภัยในการชุมนุม หรือในการปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังเป็นจำนวนมาก คือตั้งแต่หนึ่งหมู่ขึ้นไปนั้น หน่วยงานตำรวจหรือหน่วยกำลังต่าง ๆทั่วโลก ได้นำระบบการจัดการของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทางทหารมาประยุกต์ใช้ เพื่อการเตรียมการและเข้าปฏิบัติการภารกิจต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภารกิจทางทหารหรือที่ไม่ใช่ภารกิจทางทหารเช่นการรักษาสันติภาพ ซึ่งเรียกระบบการจัดการนี้ว่า “ระเบียบการนำหน่วย”(Troops Leading Proceduresย่อว่า TPLs)
ซึ่งระเบียบการนำหน่วยนี้ จะเป็นระบบการจัดการที่เป็นเครื่องช่วยให้หัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยกำลังแต่ละระดับ ได้ใช้เป็นเครื่องมือจัดการเพื่อเตรียมการและเข้าปฏิบัติภารกิจได้ครบวงจรไม่หลงลืมและมีการจัดการที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอนชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นรู้ว่าจะต้องไปปฏิบัติภารกิจ ขณะเข้าปฏิบัติการ จนถึงเมื่อปฏิบัติการเสร็จสิ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปที่เป็นผู้มอบภารกิจ ได้ใช้เป็นเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบ(Checklists)การเตรียมการและการเข้าปฏิบัติภารกิจของหัวหน้าหน่วยรอง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าหน่วยแต่ละระดับ
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติของ ผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมกำลังตำรวจในการปฏิบัติภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ทุกระดับตั้งแต่ ผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย ผู้บัญชาการกองกำลังควบคุมฝูงชน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ศูนย์ปฏิบัติการหลัก ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหลัง ได้มีระบบการจัดการกับกำลังพลที่มาร่วมปฏิบัติการในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือมีเครื่องมือที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเข้าใจตรงกัน และเป็นระบบสากลที่หลายหน่วยงานนำไปประยุกต์ใช้ จึงสมควรนำระเบียบการนำหน่วยมาประยุกต์ใช้ในภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ให้เหมาะสมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจ (Mission=M) ภัยคุกคาม ความเสี่ยงหรือภยันตรายจากการชุมนุมเรียกร้อง (Enemies &Threat=E) การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบกฎหมาย (Civil Consideration=C) กำลังพลและอุปกรณ์(Troops=T) เวลาที่เหลือก่อนเริ่มภารกิจ (Time=T) สภาพพื้นที่และสังคมที่เอื้อหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำภารกิจนี้โดยตำรวจ (Terrain=T)
ตามสมการความสำเร็จของภารกิจขึ้นกับปัจจัยดังนี้ M=E-C(T+T+T) ซึ่งจะเห็นได้จากสมการนี้ว่า การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบของกฎหมาย จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในความสำเร็จของภารกิจ หากการปฏิบัติของตำรวจในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้กำลัง อุปกรณ์มากเท่าใด เวลา หรือสถานที่เกื้อกูลให้ภารกิจสำเร็จได้ง่ายเท่าใด ก็จะไม่ทำให้ภารกิจสำเร็จ หรือเป็นบวกได้ ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นการขยายโอกาส หรือเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมหรือความสำเร็จของการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจมีบางกลุ่มมีเจตนาพิเศษให้เกิดความรุนแรง ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนแล้วก็ได้

ขั้นตอนการปฏิบัติของผู้บังคับหน่วยการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องตามหลักการระเบียบการนำหน่วย

ขั้นที่ ๑ รับภารกิจ
เมื่อได้รับภารกิจหรือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้ว หัวหน้าหน่วยกำลังจะเริ่มต้นเตรียมการดังนี้
๑.๑ วิเคราะห์ภารกิจ หากิจเฉพาะและกิจแฝง แล้วสรุปเป็นภารกิจที่หน่วยต้องปฏิบัติ โดยคำนึงถึงปัจจัยความสำเร็จของภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง (M=E-C(T+T+T))
๑.๒ วางแผนการใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเคลื่อนย้ายหน่วย หรือเริ่มปฏิบัติภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหลักการแล้วหัวหน้าหน่วยจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ประมาณ ๑ ส่วน ส่วนอีก๒ ส่วนที่เหลือ จะเหลือให้กำลังพลไปเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประจำตัว ยา
๑.๓ รวบรวมข่าวสารและประสานงานกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารจากศูนย์ปฏิบัติการหลักที่รับผิดชอบจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องนี้

ขั้นที่ ๒ ออกคำสั่งเตือน เพื่อให้หน่วยรองและกำลังพลที่จะไปปฏิบัติภารกิจ ได้เตรียมการตั้งแต่ต้น สาระคือ
๑. สถานการณ์โดยสรุป
๒. ภารกิจ
๓. เวลาที่จะต้องปฏิบัติภารกิจ (ถ้ามีห้วงเวลานาน จะต้องเตรียมเสื้อผ้าไปด้วย)
๔. คำแนะนำพิเศษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งกำลังบำรุง หรือการขนส่ง สถานที่พัก อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์อะไรที่ต้องเตรียมไปบ้าง อุปกรณ์จะจ่ายที่ใด เวลาใด
๕. เวลาและสถานที่ที่จะให้คำสั่งหรือมารวมพลขั้นต้น(จุดรวมพลขั้นต้น)
ขั้นที่ ๓ วางแผนขั้นต้น
๑. ประมาณสถานการณ์ขั้นต่อไป โดยอาศัยปัจจัย M=E-C(T+T+T)
๒. ศึกษาและวิเคราะห์สถานที่จัดการชุมนุมจากแผนที่ พร้อมทั้งกำหนดหนทางการปฏิบัติในขั้นต้นว่าหน่วยจะไปทำภารกิจอะไร และมีโอกาสที่จะพบกับเหตุอะไรบ้าง (คล้ายกับการวาดภาพการรบ)
๓. พบปะฝ่ายอำนวยการเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร
๔. ให้แนวทางการวางแผน กับเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน เกี่ยวกับ
๔.๑ กล่าวย้ำภารกิจ (บ่งถึงกิจเฉพาะที่จะต้องทำให้สำเร็จ)
๔.๒ ข้อพิจารณาทางยุทธวิธี (กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ แบบของการดำเนินการปฏิบัติ เช่นไปตั้งจุดสกัด ไปรักษาความปลอดภัยสถานีไฟฟ้า หรือเข้าไปเป็นแนวเจรจาขั้นสุดท้ายไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่าน หรือไปสลายการชุมนุม ขั้นตอนการปฏิบัติ ฯลฯ)
๔.๓ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหนทางปฏิบัติโดยทั่วไป หลักกฎหมายที่รองรับ การประชาสัมพันธ์ หรือการรักษาภาพลักษณ์ของหน่วย
๔.๔ ปัญหาของสถานการณ์ (ข้อจำกัด, การกำหนดวิธีปฏิบัติ, หัวข้อข่าวสารสำคัญ(หขส), การปฏิบัติ, ขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงในการชุมนุม (ความเสี่ยง =ผลกระทบ X ภัยคุกคาม X จุดอ่อน หรือ Risk(R)=Impact(I) X Threat(T) X Vulnerability(V)

ขั้นที่ ๔ เริ่มการเคลื่อนย้ายที่จำเป็น
เริ่มต้นเคลื่อนย้ายหน่วยที่จำเป็นไปข้างหน้า หรือเข้าที่รวมพล เพื่อเตรียมการปฏิบัติการเช่นกำลังพลในกองร้อยควบคุมฝูงชนอยู่หมู่ละ ๑ สภ. ซึ่ง สภ.ที่ไกลสุดห่างจากที่รวมพลขั้นต้น ที่ ภ.จว.เป็นระยะทางกว่า ๑๐๐ กม.และกำลังพลส่วนใหญ่เข้าเวรสายตรวจรถจักรยานยนต์อยู่ขณะนี้ ดังนี้ ควรต้องให้เวลา โดยการออกคำสั่งเตือน แจ้งเวลารวมพล การตรวจความพร้อม ตั้งแต่เริ่มรับคำสั่งให้เร็วที่สุด

ขั้นที่ ๕ การลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ
ลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศอย่างละเอียดถ้ามีเวลา ถ้าไม่มีเวลาพอก็จะต้องไปดู สำรวจภูมิประเทศจริง หรือไม่เป็นการยั่วยุ หรือเป็นอันตรายระหว่างการตรวจภูมิประเทศ เพื่อปรับแผนให้เหมาะสม และควรไปตรวจภูมิประเทศในเวลาที่ต้องปฏิบัติการจริง เช่น เวลากลางคืน สภาพการจราจร และแสงไฟอาจแตกต่างจากวันทำงาน และในเวลากลางวัน โดยควรนำผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ไปตรวจพื้นที่ด้วย

ขั้นที่ ๖ ทำแผนให้สมบูรณ์ อนุมัติแผน
๑. รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายอำนวยการ หรือจาก ศูนย์ปฏิบัติการ และนำค่าวิเคราะห์ความเสี่ยง มาทำประมาณสถานการณ์ (พิจารณาปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงก่อน )
๒. ประมาณสถานการณ์ (ใช้สมการ M=E-C(T+T+T) ) โดยยึดกรอบกฎหมาย และการยอมรับได้ของสังคมไทย และประชาคมโลกด้วย แล้วประกาศข้อตกลงใจและแนวความคิดในการปฏิบัติ
๓. กำกับดูแลและเตรียมการเกี่ยวกับ แผน/คำสั่ง
๔. นำแผนไปบรรยายให้ ผบ.เหตุการณ์ อนุมัติ หรือปรับแก้ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วให้ประสานแผน/คำสั่ง กับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน



ขั้นที่ ๗ การสั่งการ
๑.เรียกประชุม ผบ.หมู่ ผบ.มว ส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือกำลังทั้งหมด มีแผนที่ หรือภูมิประเทศจำลอง ของสถานที่ชุมนุม หรือพื้นที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อใช้ประกอบการสั่งการ
๒.ในระดับกองร้อยควบคุมฝูงชน ควรสั่งการด้วยวาจาเท่านั้น และอาจแจกจ่ายคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง (ถ้ามี) หัวข้อคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ คือ ๑. สถานการณ์ ๒.ภารกิจ ๓.การปฏิบัติแต่ละหน่วย กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ ๔.การส่งกำลังบำรุง การจ่ายอาหาร น้ำ การขนส่ง ๕.การสื่อสารและการบังคับบัญชา โดย อาจแจกจ่ายแยกกัน หรือแจกจ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะหัวข้อที่จำเป็น คือข้อ ๓ การปฏิบัติของแต่ละหน่วย เท่านั้น แล้ว ให้ผู้บังคับหน่วยแต่ละหน่วย สรุปกลับว่า แต่ละหน่วย ต้องไปทำอะไร เพื่ออะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร (Brief-back)

ขั้นที่ ๘ การกำกับดูแล
๑. สนับสนุนคำสั่งให้ได้ผล โดยกำกับดูแลแก้ไข การฝึกซ้อมของแต่ละหน่วย ตามระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ การปฏิบัติของหน่วย ณ แนวเจรจาขั้นสุดท้าย หรือการปฏิบัติของหน่วย ณ ที่หมาย(สถานที่ชุมนุม) ตามภารกิจที่ได้รับมอบและสั่งการแล้ว โดยอาจซักซ้อมการวางกำลัง ขั้นตอนการปฏิบัติ เฉพาะตัวหัวหน้าหน่วย(ผบ.หมู่, ผบ.มว,ผบ.ร้อย)ก่อน (คือแบบการฝึกยุทธวิธีเฉพาะผู้บังคับบัญชาโดยไม่ใช้กำลังพล( Tactical Exercise Without Troops ย่อว่า TEWOT)) เพื่อประหยัดเวลา ป้องกันปัญหาการกล่าวหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่าใช้กำลังมาข่มขู่ และลดปัญหาความสับสนวุ่นวายจากการใช้กำลังพลจำนวนมากมาฝึกซ้อม
๒. ให้ฝ่ายอำนวยการหรือเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน , ผบ.หน่วยรอง เช่น รองผบ.หมวด รองผบ.หมู่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กำกับดูแล เพื่อให้บังเกิดผลของการปฏิบัติในเรื่องการตรวจสิ่งอุปกรณ์ประจำตัว เช่น กระบอง โล่ เครื่องแต่งกายป้องกันตัว ตรวจอาวุธที่อาจเป็นอันตราย และฝึกซ้อมการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ และตรวจยอดกำลังพล สรุปข่าวหรือสถานการณ์ที่ได้รับล่าสุด
๓. ดำรงการติดต่อข่าวสารกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน ว่าเหตุหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปเช่นไร เช่นกลุ่มผู้ชุมนุมอาจมีระเบิดปิงปอง ให้ระมัดระวัง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ให้ผู้ปะทะแถวหน้าสวมเสื้อเกราะป้องกันกระสุนปืน
๔. ปรับปรุงและแก้ไขแผนให้เหมาะสมได้ตามต้องการ และผู้บังคับหน่วยมากล่าวย้ำ ภารกิจโดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ M=E-C(T+T+T) และซักซ้อมครั้งสุดท้าย เรื่อง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ กฎการใช้กำลัง การสั่งเริ่มหรือ เลิกปฏิบัติ จุดนัดพบ หลังการจัดระเบียบใหม่ เมื่อการปฏิบัติ ณ ที่หมายเสร็จแล้ว หรือมีการแตกขบวน พลัดหลง การรักษาพยาบาล สัญญาบอกฝ่าย เป็นต้น
๕. ปฏิบัติภารกิจและบรรจุภารกิจอย่างสมบูรณ์ โดยการตรวจการปฏิบัติ ณ จุดรวมพลขั้นสุดท้าย และเมื่อจะเลิกภารกิจ หัวหน้าหน่วย ต้องมีการตรวจยอดกำลังพล ณ จุดนัดพบ ซึ่งอาจเป็นที่เดียวกับจุดรวมพล เพื่อสำรวจความเสียหาย ดูแลผู้บาดเจ็บ ส่งมอบพื้นที่หรือผู้ต้องหา ของกลาง ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวน หรือศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า หรือส่งมอบภารกิจให้กับกองร้อยควบคุมฝูงชนที่มาสับเปลี่ยนภารกิจต่อไป
๖.การรายงานหลังการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติภารกิจ เสร็จแล้ว กลับไปที่ที่ตั้งตามปกติแล้ว จะต้องรายงานผลการปฏิบัติ ที่เรียกว่า “รายงานหลังการปฏิบัติ” (After Action Report ย่อว่า AAR) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๖.๑ ลำดับเหตุการณ์ตามระเบียบการนำหน่วยนี้ และผลการปฏิบัติของหน่วยตามเหตุการณ์โดยลำดับ
๖.๒ ข้อที่หน่วยปฏิบัติได้ผลดี หรือการที่หน่วยเหนือ หน่วยข้างเคียง หน่วยรอง หรือศูนย์ปฏิบัติการ ปฏิบัติการได้ผลดี หรือเป็นสิ่งดี ที่ควรจะต้องดำเนินการต่อไปในการปฏิบัติภารกิจภายภาคหน้า
๖.๓ ข้อขัดข้อง สิ่งที่ควรปรับปรุงพัฒนาของหน่วยตนเอง หน่วยเหนือ หน่วยรอง หน่วยข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง
๖.๔ ข้อเสนอแนะทั่วไป และประเด็นปัญหาที่อาจเป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจ
๑) การขึ้นศาล หรือการส่งมอบพยานหลักฐาน รูปภาพ ที่หน่วยไปปฏิบัติหน้าที่
๒)การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ วิธีปฏิบัติงาน ระเบียบ คำสั่งและกฎหมาย
๓)ข้อแนะนำทางด้านการฝึกอบรม
๔) ข้อแนะนำด้านขวัญและกำลังใจ และการส่งกำลังบำรุง เบี้ยเลี้ยง
-----------------------------------

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์:ตำรวจไทยตัองนำมาใช้

A-1
APPENDIX A
PRINCIPLES OF STRATEGIC COMMUNICATION
1. Caveat
a. The nine “Principles of Strategic Communication” listed in Figure A-1 are included
in the Principles of Strategic Communication Guide, signed by the Principle Deputy
Assistant Secretary of Defense for Public Affairs 15 August 2008, Figure A-2.
b. These principles are provided in this handbook to assist dialogue and instruction,
promoting understanding of Strategic Communication. They are not listed in order of
precedence.
2. Discussion
a. Leadership-Driven—Leaders must decisively engage and drive the strategic
communication process. To ensure integration of communication efforts, leaders should
place communication at the core of everything they do. Successful Strategic
Communication – integrating actions, words, and images – begins with clear leadership
intent and guidance. Desired objectives and outcomes are then closely tied to major lines
of operation outlined in the organization, command or joint campaign plan. The results
are actions and words linked to the plan. Leaders also need to properly resource strategic
communication at a priority comparable to other important areas such as logistics and
intelligence.
Definition of a principle: A fundamental tenet; a determining characteristic; an
essential quality; an enduring attribute.
DOD Memorandum Principles of Strategic Communication Guide
15 August 2008
Figure A-1. Principles of Stragetic Communication
PRINCIPLES OF STRATEGIC COMMUNICATION
Credible Understanding
Dialogue Pervasive
Unity of Effort Results-Based
Responsive Continuous
Perception of truthfulness and respect Deep comprehension of others
Multi-faceted exchange of Ideas Every action sends a message
Integrated and coordinated Tied to desired end state
Right audience, message, time, and place Analysis, planning, execution, assessment
Leadership-Driven
Leaders must lead communication process

-------------------
read more / อ่านเพิ่มเติมจากต้นฉบับ

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอการพัฒนาการควบคุมฝุงของตำรวจไทย

บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ ฝอ.2 บก.อก.ภ.7 โทร. 0 3424 3751 – 5 ต่อ 26
ที่ 0023.12/ วันที่ 12 พฤษภาคม 2552
เรื่อง การตรวจสอบและวิจารณ์การฝึกควบคุมฝูงชนเพื่อ รปภ.การประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เรียน ผบช.น. (ผ่าน ผบก.ตปพ.)

1. ต้นเรื่อง
ตามสั่งการด้วยวาจาของ ผบช.น.ได้ประสาน ผบช.ภ.7 เมื่อ 4 พ.ค.2552 ให้กระผม พ.ต.อ.ณรงค์ ทรัพย์เย็น ผกก.ฝอ.2 บก.อก.ภ.7 ไปตรวจสอบวิจารณ์การฝึกและเสนอแนะการพัฒนาการฝึกการควบคุมฝูงชน ซึ่ง บช.น.ได้จัดฝึก กก.ปจ.บก.ตปพ.ร่วมกับกำลังของ บช.ตชด.,บก.ป.เพื่อเตรียมการ รปภ.การประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียน ที่ประชุม ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯใน 7-8 พ.ค.2552 และให้เสนอแนะการพัฒนาการฝึก การเตรียมกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนของ ตร.ในภาพรวมนั้น
2. ข้อเท็จจริง
2.1 กระผมได้ไปสังเกตการณ์ฝึกเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2552 (วันฉัตรมงคล) ที่สโมสรตำรวจ บางเขน มี เวลา 09.00 น มี พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ รอง ผบช.น. เป็นประธาน กำลังที่มาฝึกประกอบด้วย ร้อย ปจ.จาก กก.2 (ปจ.) บก.ตปพ.จำนวน 3 กองร้อย ,ร้อย ปจ.(คอมมานโด) จาก บก.ป.จำนวน 2 กองร้อย , จาก กก.ตชด.11 จำนวน 1 กองร้อย และ จาก กก.ตชด.12 จำนวน 1 กองร้อย รวม 7 กองร้อย
2.2 เวลา 09.30-10.30 น. พ.ต.อ.ไพทูรย์ มณีอินทร์ ผกก.2 บก.ตปพ.(กก.ปจ.).ได้บรรยายและนำภาพวีดิโอเกี่ยวกับ ฝูงชนที่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ในห้วงที่ผ่านมา และภาพการสาธิตการฝึกการใช้กำลัง กองร้อยควบคุมฝูงชน ซึ่งท่าน พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร.ได้จัดสาธิตเมื่อ 28 เม.ย.2551 ณ สนามกีฬาบุณยะจินดา และเวลา 10.30-11.00 น. พ.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิติประภัสสร์ รอง ผบก.ตปพ.ได้บรรยายผลจากการไปสัมมนาร่วมกับ บก.กองทัพไทย เมื่อ 4 พ.ค.2552 เกี่ยวการควบคุมฝูงชนในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อ 12 เม.ย.2552 และเวลา 11.00-12.00 น กระผมได้บรรยายเกี่ยวกับหลักการจัดการฝึก ตามคู่มือราชการสนามของกองทัพบกสหรัฐซึ่งจะเน้น ให้ฝึกเหมือนกับสภาพที่ต้องไปทำงานจริง FM 7-1 BATTLE FOCUSED TRAINING (ฝึกเหมือนกับที่ต้องรบจริง)) และกระผมเห็นว่ากำลังพลส่วนใหญ่มีขวัญและกำลังใจที่ต้องปรับปรุง จึงได้ขอให้เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้มาดูภาพยนตร์เรื่อง Rule Of Engagement (แปลว่ากฎการใช้กำลัง แต่ชื่อเรื่องภาษาไทย ใช้ว่า “คำสั่งฆ่าคนบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยนาวิกโยธินสหรัฐ ไปช่วยทูตออกมาจากวงล้อมของฝูงชนที่บ้าคลั่งล้อมสถานทูตอยู่ แต่ทำให้มีคนตายถึง 83 คน หัวหน้าชุดจึงต้องขึ้นศาลทหาร เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการนำพยานหลักฐานการแก้ปัญหาฝูงชนมาสู่ศาล ถึงการใช้กำลังหรืออาวุธอย่างไร จึงไม่เกินกว่าเหตุ) เพื่อให้ตำรวจที่ดูมีความรู้สึกภาคภูมิใจกับ
/ภารกิจ....
- 2 -
ภารกิจที่ต้องมาปฏิบัติในครั้งนี้ (สรุปเนื้อเรื่องการบรรยายปรากฏตามเอกสารหมายเลข 1)
2.3 เวลา 13.00-17.00 น ได้มีการฝึกจำลองเหตุการณ์ให้กองร้อยควบคุมฝูงชนทั้ง 7 กองร้อยเข้าสลายฝูงชน โดยใช้แผนรักษาความสงบของ ตร.ปี 48 (แผนกรกฎ 48) เป็นแนวทางการปฏิบัติในการเข้าสลายฝูงชนที่สมมุติเหตุการณ์เข้ายึดพื้นที่ ทำเนียบรัฐบาลแล้วไม่ยอมออกจากพื้นที่ โดยใช้สนามหน้า กก.2 ปจ. เป็นสถานที่สมมุติว่าเป็นทำเนียบรัฐบาล ใช้รถฉีดน้ำ การใช้รูปขบวนระดับกองร้อยเข้าผลักดัน การใช้การจับกุมและการใช้กระสุนยาง และลูกระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าผลักดัน ผลการปฏิบัติส่วนใหญ่ กำลังของ กก.ตชด.11 และ กก.ตชด.12 จะไม่เข้าใจในการปฏิบัติในการควบคุมสั่งการของ ผบ.ร้อย ผบ.มว ปจ.ในการจัดรูปขบวนเข้าปฏิบัติ ณ ที่หมาย เนื่องจากเป็นการสนธิกำลังมาจาก กองร้อย ตชด.ในสนาม ทั้งตัวกำลังในกองร้อย ปจ. และตัวผู้บังคับบัญชา ไม่ได้มีการฝึกซ้อมมาก่อน (ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบการนำหน่วย)
2.4 วันรุ่งขึ้น (6 พ.ค.2552) กำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนที่ฝึกทั้ง 7 กองร้อย ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาการณ์ กลุ่ม นปช. ที่มายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล และกลับมาฝึกซ้อมอีกครั้ง เมื่อเวลา 14.00 น. โดยมี พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต ผบก.ตปพ. เป็นผู้ควบคุมการฝึก , พ.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ฯ รอง ผบก.ตปพ.ร่วมฝึกโดยทำหน้าที่เป็น ผบ.เหตุการณ์, พ.ต.อ.ไพทูรย์ฯ เป็นผู้ให้ปัญหาฝึก เป็นการฝึกจำลองเหตุการณ์ในการเข้าสลายการชุมนุม เหมือนที่ผ่านมา โดยได้ปรับปรุงการฝึกใหม่ มีการ นำระบบการแสวงข้อตกลงใจทางทหาร มาใช้ โดยจัดการประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสลายการชุมนุม มอบภารกิจให้แก่ ผบ.ร้อย หรือผู้ควบคุมกำลังทั้ง 7 กองร้อย ให้บรรยายสรุปกลับ (Backbrief) ซักซ้อมความเข้าใจ โดยให้ ผบ.ร้อย ทั้งหมด ปฏิบัติตามหลักการ “ระเบียบการนำหน่วย” และได้กำหนดให้มีการซ้อมจำลองเหตุการณ์การปฏิบัติเข้าสลายการชุมนุม ณ ที่หมายจำลอง เฉพาะตัว ผบ.มว.และ ผบ.ร้อย เพื่อความสะดวกในการฝึก เป็นขั้นตอน (ฝึกผู้บังคับบัญชาเพื่อการวางกำลัง และการปฏิบัติก่อน เป็นการฝึกทางยุทธวิธีโดยไม่ใช้กำลังพลร่วมฝึก (Tactical Exercise Without Troops = TEWT) จำนวน 1 รอบก่อน เมื่อเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนของ ผบ.เหตุการณ์แล้ว จึงได้มีการฝึกเคลื่อนกำลังเข้าสลายการชุมนุม โดยมีผู้ชุมนุมสมมุติเข้าปะทะกับกองร้อยควบคุมฝูงชน ประกอบการใช้รถฉีดน้ำ กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา การจับกุมแกนนำ ซึ่งการฝึกเป็นไปตามขั้นตอนด้วยดี
2.5 ผบก.ตปพ.ได้สั่งให้ ผบ.ร้อย และผู้ควบคุมกำลังนำกำลังทั้งหมดไปปฏิบัติหน้าที่ รปภ.การประชุม รมต.สาธารณสุขอาเซียน ขึ้นการบังคับบัญชากับ ศปก.บช.น.(สน.) ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ก่อนเวลา 23.00 น.ของวันที่ 6 พ.ค.2552 และกระผมได้รับคำสั่งจาก ผบช.น.ให้มาสังเกตการณ์ ของ ศปก.บช.น.สน. และการใช้กำลังควบคุมฝูงชนดังกล่าว โดย กำลังทั้งหมดได้รับมอบภารกิจให้ยืนเฝ้าจุดระวังป้องกันโรงแรมดุสิตธานี โดยกองร้อยควบคุมฝูงชนจาก กก.ตชด.11 ,12 กก.2 บก.ตปพ.รวม 5 กองร้อย วางกำลังด้านถนนพระราม 4 (ทิศเหนือด้านหน้าโรงแรม) และกำลัง จำนวน 2 กองร้อยจาก บก.ป.เฝ้าจุดระวังป้องกันด้านถนนสีลม (ทิศตะวันตกของโรงแรม) กำลังทั้งหมด ได้เลิกปฏิบัติเพราะเสร็จสิ้นการประชุม บุคคลสำคัญเดินทางกลับหมดเมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 8 พ.ค.2552 การปฏิบัติบรรลุภารกิจ เหตุการณ์ปกติ ไม่มีกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด

/3. ข้อพิจารณา...
- 3 -
3. ข้อพิจารณา
3.1 กรอบในการให้ข้อเสนอแนะของกระผม จะใช้ฐานการตรวจสอบการฝึกในครั้งนี้ และการจัดกำลังเข้าทำงานในการควบคุมฝูงชนของ ตร.ในภาพรวม ทั้งในเขต บช.น.,ภ.1 (สนามบินสุวรรณภูมิ),และการชุมนุมของกลุ่มการเมืองและกลุ่มเรียกร้องต่าง ๆ ในประเทศไทยเช่นที่จังหวัดอุดรธานี หรือการปิดถนนของกลุ่มผู้ชุมนุมในสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้กรอบการเสนอแนะ 3 กรอบดังนี้
3.1.1 ใช้กรอบการเสนอแนะการดำเนินการควบคุมฝูงชนในภาพรวมของ ตร.เนื่องจาก กำลังของ กองบัญชาการใด กองบัญชาการหนึ่งหรือการปฏิบัติของ บช.ใด บช.หนึ่งไม่ครอบคลุมการชุมนุมเรียกร้องได้หมด (เช่น ผู้ชุมนุมมาจากต่างจังหวัดเข้าไปชุมนุมใน กทม. ,แกนนำจาก กทม.ไปจัดชุมนุมที่ต่างจังหวัด เพราะเหตุผลของระบบการสื่อสารด้วยโทรศัพท์มือถือ และสื่อสารมวลชนที่ดีขึ้น)
3.1.2 .ใช้กรอบเสนอแนวคิดที่เป็น ระบบการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่เป็นหลักสากลที่อารยะประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องยอมรับ หรือออกกฎ หรือถือปฏิบัติ ตามที่ศาลปกครองกลาง ได้กำหนดไว้ในคำสั่งศาล ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค.52 มากกว่าที่จะนำเสนอหรือชี้ข้อบกพร่องและแนวทางแก้ไขเป็นรายละเอียดการปฏิบัติ แต่จะนำเสนอ เป็นลักษณะของ ระบบการแก้ไขเหตุการณ์ เครื่องมือ หรือระบบการบริหารเหตุ หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้แก้ไขได้เป็นระบบ ยั่งยืน และเป็นหลักสากลได้มากกว่า การเสนอแนะแก้ไขเป็นส่วน ๆ
3.1.3 มุ่งเน้นเสนอแนะ ที่สามารถแก้ไข หรือเป็นไปได้ ทั้งในมิติของงบประมาณ กฎหมาย ระเบียบ ในระยะเวลาอันใกล้ก่อน
3.2 ข้อเสนอแนะการปรับปรุงระบบการควบคุมฝูงชนในประเทศไทย
3.2.1 การปรับปรุงองค์ความรู้การควบคุมฝูงชน เนื่องจากคู่มือการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนของกรมตำรวจ ฉบับประกาศใช้ เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2536 ได้ใช้มาเป็นเวลานานและหลักการพื้นฐาน กลยุทธ์ น่าจะเหมาะสำหรับการควบคุมฝูงชนที่เกิดจากฝูงชนที่ไม่ได้มีการจัดตั้ง หรือมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างในปัจจุบัน ประกอบกับแกนนำฝูงชนในปัจจุบัน มักเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหรือผ่านงานด้านสงครามกองโจรรบพิเศษหรือสงครามการเมือง รูปแบบของฝูงชนจึงมีความซับซ้อน และมีการวงแผนอย่างแยบยลทั้งระดับยุทธวิธีและระดับยุทธศาสตร์ แต่คู่มือการปฏิบัติควบคุมฝูงชนที่ ตร. ใช้ฉบับลงวันที่ 20 ส.ค.2536 เป็นคู่มือการปฏิบัติระดับยุทธวิธีเท่านั้น จึงเห็นควรใช้คู่มือราชการสนามของกองทัพบกสหรัฐ เรื่อง การควบคุมฝูงชน (F.M.3-19.15 CIVIL DISTURBANCE OPERATIONS) ฉบับเดือนเมษายน 2005 (เอกสารประกอบหมายเลข 2) ซึ่งเขียนขึ้นจากพื้นฐานการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาสันติภาพ ซึ่งการก่อความไม่สงบจากฝูงชนมักเกิดจากพื้นฐานทางการเมืองแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปัจจุบัน
3.2.1.1 สิ่งที่ ผบช.น. ห่วงใยและยกเป็นประเด็นในการประชุมทางจอภาพของกองอำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน ของ ตร. ที่ผ่านมา กรณีการใช้กระบองของชุดควบคุมฝูงชน คู่มือตาม F.M. 3-19.15 หน้า 4-5 ได้เปลี่ยนหลักการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ที่ไม่ตีหรือกระแทกจุดตายจาก

/ที่กำหนด...
- 4 -
ที่กำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนของกรมตำรวจ ฉบับวันที่ 20 ส.ค.2536 หน้า 162 (เอกสารประกอบหมายเลข 3)
3.2.1.2 กลยุทธ์ใน F.M. 3-19.15 จะใช้ฐานความคิดจากระบบ “การแสวงข้อตกลงใจทางทหาร” โดยใช้ฐานการข่าวเป็นหลัก เมื่อข่าวเปลี่ยนไปการประมาณการหรือการประมาณสถานการณ์ก็จะเปลี่ยนไป ทำให้การใช้กลยุทธ์หรือวิธีการแก้ไขปัญหากลุ่มผู้ชุมนุม (ที่ต้องพิจารณาปัจจัย METT – TC = ภารกิจ ภัยคุกคาม สภาพพื้นที่ สังคม กำลังฝ่ายเรา เวลา และการยอมรับได้ของสังคม) ใช้ให้เหมาะสมกับปัจจัยดังกล่าว กว้างขวางกว่าที่แผนรักษาความสงบ (กรกฎ 48) หรือที่คู่มือการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนของ ตร. เมื่อปี 2536 กำหนดไว้ เช่น การใช้เรื่องการข่าว กลยุทธ์การป้องกันการรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งแต่ต้น การรักษาความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ดาวกระจายไปแต่ละจุด การใช้ชุดตรวจการณ์คุ้มกันจากที่สูง (DM = Designated marksman) การใช้ชุดจับกุมขนาดใหญ่ (Mass Arrest) เป็นต้น
3.2.1.3 การต้องยึดถือหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือหลักการสากลในการควบคุมฝูงชน โดยที่ผ่านมาคู่มือการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนของ ตร. ฉบับปี 2536 มิได้พูดถึงความชอบธรรมหรือแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์ในการควบคุมฝูงชน สหประชาชาติได้ออกปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักการพื้นฐานการใช้กำลังและอาวุธของผู้รักษากฎหมาย ฉบับข้อมติที่ 45/121 ลง 18 ธ.ค.1990 (Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ได้กำหนดหลักการสากลเกี่ยวกับการใช้กำลังควบคุมฝูงชน จะต้องใช้จากเบาไปหาหนัก สมส่วน และต้องมีการทดสอบมาตรฐานการใช้กำลังหรือต้องให้ผู้ที่รักษากฎหมายใช้กำลังหรืออาวุธ ต้องมีการฝึก (เอกสารประกอบหมายเลข 4 ข้อที่ 12,13,14,19 และ 20) จึงทำให้หน่วยงานตำรวจทั่วโลกหรือผู้ที่ทำหน้าที่รักษากฎหมายประเภทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมฝูงชน จะต้องถือหลักสำคัญของการใช้กำลังให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว เช่น กองทัพไทย ได้ประกาศกฎการใช้กำลังในการปราบปรามจลาจล ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะที่ 19/50 ลง 7 มี.ค.2550) (เอกสารประกอบหมายเลข 5) และหน่วยตำรวจในต่างประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จะมีคณะกรรมการที่กำหนดมาตรฐานการใช้กำลังของตำรวจในด้านต่าง ๆ รวมถึงกำหนดมาตรฐานหรือแนวทางในการควบคุมฝูงชน เช่น คณะกรรมการมาตรฐานการฝึกอบรมของผู้รักษาความสงบ (Commission on Peace Officer Standard and Training = POST) ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายอาญา มาตราที่ 13514.5 ออกแนวทางให้หน่วยตำรวจในมลรัฐแคลิฟอร์เนียถือปฏิบัติในการควบคุมฝูงชน (เอกสารประกอบหมายเลข 6) แต่ตำรวจไทยไม่เข้าใจในเรื่องกฎการใช้กำลังนี้ โดยผู้ปฏิบัติไม่รู้และไม่เข้าใจและไม่มีการฝึก เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ที่หน้ารัฐสภา ภาระความรับผิดชอบ โดยเฉพาะทางกฎหมายจึงตกหนักกับ ผบ.เหตุการณ์ และผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ตร.
3.2.2 การปรับปรุงระบบวิธีการจัดการฝึก
3.2.2.1 การฝึกควบคุมฝูงชนของ ตร.ที่ผ่านมา มักใช้ระบบการฝึกที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบัน เช่น เน้นเฉพาะการฝึกกำลังพลที่อยู่ประจำในกองร้อยควบคุมฝูงชนเท่านั้น ให้มีความพร้อมในการใช้โล่กระบองและรูปขบวน โดยส่วนมากละเลยการฝึกระดับผู้บังคับบัญชา คือ ผบ.
/หมวด ผบ.ร้อย...
- 5 -
หมวด ผบ.ร้อย ควบคุมฝูงชน เกี่ยวกับระเบียบการนำหน่วย การแสวงข้อตกลงใจทางทหาร ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System) และส่วนใหญ่การฝึกอบรมของตำรวจไทยจะเน้นแค่ “การมีความรู้” เป็นเหตุให้ไม่มีการฝึกทักษะการนำหน่วย หรือการใช้สถานการณ์ด้านการข่าวมาเป็นตัวชี้นำในการกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาการควบคุมฝูงชน ส่วนใหญ่จะเข้าใจผิดว่าแผนรักษาความสงบ (กรกฎ 48) จะเป็นเครื่องมือหรือสูตรสำเร็จ ในการแก้ไขปัญหาฝูงชน โดยละเลยหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือทักษะในการใช้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ หรือระบบแสวงข้อตกลงใจทางทหาร ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลย้อนกลับไปถึงการจัดการฝึกที่ไม่ตรงกับที่ต้องไปทำงานจริง เพราะผู้บังคับหน่วยและฝ่ายอำนวยการไม่ได้มีความคิดหรือความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการบัญชาการเหตุการณ์หรือการแสวงหาข้อตกลงใจทางทหาร จึงเห็นควรมีการฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติตามแนวความคิดในคู่มือราชการสนามของกองทัพบกสหรัฐที่ว่าฝึกให้เหมือนกับที่ต้องไปทำงานจริง F.M.7-1 (Battle Focused Training)
3.2.2.2 พัฒนาระบบฝ่ายอำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการ
ตามหลักนิยมของการฝึกการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ จะต้องให้ฝ่ายอำนวยการมาร่วมฝึกด้วย 2 ระดับ เช่น การฝึกซ้อมในครั้งนี้ เป็นการฝึกเพื่อเตรียมกำลังควบคุมฝูงชนใช้ในภารกิจการจัดการชุมนุมเรียกร้องในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยในคู่มือการจัดการและวางแผนรักษาความสงบ สำหรับจัดงานสำคัญ : แนวทางสำหรับผู้รักษากฎหมาย (Planning for and Managing Demonstrations) ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (เอกสารประกอบหมายเลข 7) ได้เสนอแนะหลักการว่าต้องมีการฝึกเรื่องการข่าว เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาผู้ชุมนุมที่จะมารบกวนการจัดงานด้วย ในการฝึกครั้งนี้หากไม่มี ศปก.บช.น. และ ศปก.ตร. ที่ช่วยสนับสนุนด้านการข่าว กลุ่มผู้ชุมนุมที่จะมารบกวนการประชุม หรือที่อาจกระทบต่อการประชุม เช่น กลุ่มผู้ค้าที่ถูกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์จับกุมเรื่องลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าที่ย่านพัฒพงษ์ก่อนการประชุม เนื่องจากกองร้อยควบคุมฝูงชนที่รับการฝึก 7 กองร้อยดังกล่าว ไม่มีขีดความสามารถและเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติงานด้านการข่าว ทั้งในและนอกเขต บช.น. ศปก.น. ควรทำหน้าที่ ที่บังคับการ (หลัก) ที่สนับสนุนด้านการข่าว การส่งกำลังบำรุง ส่วน ศปก.ตร. ควรทำหน้าที่ ศปก.หรือ ที่บังคับการหลัง ที่สนับสนุนข้อมูลการข่าวนอก บช.น. และสนับสนุนข้อมูลด้านกฎหมาย (กฎการใช้กำลังหรือกฎการปะทะ) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกปฏิบัติหรือการทำงานที่ต้องปะทะกับฝูงชน นอกจากนี้ ศปก.ตร. ควรสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตำรวจและให้ง่ายต่อการรักษาความสงบ
3.2.3 การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์
3.2.3.1 ควรพัฒนาเรื่องการสื่อสารของทีมควบคุมฝูงชน ให้มีระบบปากพูดหูฟังติดที่หมวก โดยเฉพาะระดับ ผบ.หมู่ ผบ.หมวด ผบ.ร้อย เพื่อการสั่งการและพัฒนาข้อมูลด้านการข่าวของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่จุดรวมพลไปจนถึงการปฏิบัติ ณ พื้นที่เป้าหมาย
3.2.3.2 ควรให้มีหมายเลขหมวก เพื่อป้องกันความไม่มีตัวตนที่ตำรวจจะไปทำร้ายประชาชน และไม่ทราบว่าตำรวจผู้ใดทำร้าย (ผลจากการสรุปบทเรียนในการควบคุมฝูงชน การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ที่เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือน พ.ย.1999 และกรณีที่ตำรวจอังกฤษ ถูกกล่าวหาว่าผลักชายอายุ 40 กว่าปี ที่เดินผ่านมา ในขณะควบคุมฝูงชน และเสียชีวิตในเวลา
/ต่อมา...
- 6 -
ต่อมา ในการประชุม G20 เมื่อ 1 เม.ย.2552) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ไปผลักหรือไปทำร้ายประชาชนไม่มีชื่อหรือหมายเลขประจำตัว ให้ผู้อื่นมองเห็นได้ ภาระทางกฎหมายจึงตกอยู่กับผู้บังคับบัญชา หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์
3.2.3.3 ควรพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ตามความต้องการขององค์ความรู้ด้านการควบคุมฝูงชนที่ต้องให้ฝ่ายอำนวยการ มีการติดตามข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา และอำนวยความสะดวกแก่กำลังพลเมื่อต้องเคลื่อนย้าย เช่น การจัดรถศูนย์ปฏิบัติการเคลื่อนที่ ที่มีเครื่องมือสื่อสาร และห้องน้ำห้องส้วมไว้บริการ จากการสอบถามกำลังพลที่มาฝึกในครั้งนี้ ได้ชี้แจงว่าหน่วยงานต่าง ๆ มักเดือดร้อนจากการที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมและตำรวจมาใช้สถานที่ร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ
3.2.4 การพัฒนาระบบขวัญและกำลังใจ ขวัญและกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนทุกส่วน อยู่ในภาวะที่ตั้งรับและมีความรู้สึกไม่ภาคภูมิใจในหน้าที่ ดังนั้น แม้ว่าจะพัฒนาเรื่องใด หรือจะทำการฝึกควบคุมฝูงชน โดยใช้ระบบหรือเครื่องมืออย่างไร เมื่อผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชามาอยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน หรือกำลังพล ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่มาทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่มีความเต็มใจ ภาคภูมิใจ หรือมีความสำนึกในหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองแล้ว ก็จะไม่สามารถพัฒนาได้ ภาระทั้งหมดจะตกอยู่กับผู้บังคับบัญชาเป็นส่วนใหญ่ จึงควรดำเนินการดังนี้
3.2.4.1 ควรให้ ตร. กำหนดสมรรถนะประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะกลุ่มงานที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มพิเศษ เช่น สายป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน กำหนดไว้ในแบบประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการตำรวจ ท้ายหนังสือ ตร. ที่ 0004.51/ว 101 ลง 2 ส.ค.2550 โดยให้มีสมรรถนะในเชิงทักษะการควบคุมฝูงชนแต่ละระดับ เช่น ผบ.หมู่ ควรมีทักษะการใช้กระบอง โล่ ในการควบคุมฝูงชน และจัดรูปขบวนควบคุมฝูงชนได้ถูกต้อง ส่วนระดับ รอง สว. ขึ้นไป ให้กำหนดสมรรถนะในเชิงทักษะ ในการใช้ระเบียบการนำหน่วยในการควบคุมฝูงชน หรือวางแผนในการควบคุมฝูงชนได้ ตามแบบที่ใช้ทดสอบ หากไม่ผ่านการประเมินควรที่จะไม่ให้รับเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าว หรือหากเคยปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน ในรอบปีได้ 10 ครั้งขึ้นไป อาจให้ถือว่าผ่านการประเมิน เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันระบบการรับเงินเสี่ยงภัยของตำรวจ มีลักษณะที่น่าจะมีข้อกำหนดที่ง่ายกว่าวิชาชีพอื่นที่รับเงินเพิ่มพิเศษ
3.2.4.2 ควรกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านประชาสัมพันธ์หรือหรือปฏิบัติการจิตวิทยาของตำรวจ นำหลักการประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) มาใช้ในการสร้างความชอบธรรมหรือส่งเสริมภาพลักษณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการควบคุมฝูงชน ซึ่งเป็นการปฏิบัติการในเชิงรุก ด้านยุทธศาสตร์ เสริมจากการปฏิบัติการด้านข่าวสาร (Information Operations) ซึ่งเป็นการปฏิบัติในเชิงตั้งรับในปัจจุบัน
4. ข้อเสนอแนะ
ปรากฏตามเอกสารหมายเลข 8

พ.ต.อ.
( ณรงค์ ทรัพย์เย็น )
ผกก.ฝอ.2 บก.อก.ภ.7























เอกสารประกอบหมายเลข 8
ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงระบบการควบคุมฝูงชนในประเทศไทย

ลำดับ หัวข้อ ข้อควรปฏิบัติของ บช.น. ข้อควรปฏิบัติของ ตร. ข้อควรปฏิบัติ บช.ต่าง ๆ
1 การฝึกอบรม การปรับปรุงองค์ความรู้การควบคุมฝูงชน 1. นำหลักการในคู่มือราชการสนามของกองทัพบกสหรัฐ เรื่อง การควบคุมฝูงชน (F.M.3-19.15 CIVIL DISTURBANCE OPERATIONS, คู่มือ F.M.7-1 BATTLE FOCUSED TRAINING (ฝึกเหมือนกับที่ต้องรบจริง)) และคู่มือการจัดการและวางแผนรักษาความปลอดภัยสำหรับจัดงานสำคัญ : แนวทางสำหรับผู้รักษากฎหมาย (Planning for and Managing Demonstrations) ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยให้ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์จัดพิมพ์แปลและแจกจ่ายให้กับกำลังพล
2. ทำหนังสือขออนุญาตใช้คู่มือตามข้อ 1. เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ในการควบคุมฝูงชนต่อสถานเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาด้านลิขสิทธิ์ และเพิ่มน้ำหนักในการใช้อ้างอิง เมื่อใช้เป็นข้ออ้างในศาลสำหรับตำรวจ หากเป็นคู่มือของ ตร. เอง เชื่อว่าน้ำหนักน่าเชื่อน่าจะน้อยกว่าของต่างประเทศที่มีความเป็น “สากล” มากกว่า
3. จัดการฝึกให้คล้ายกับที่ทำงานจริง โดย ศปก.น. ร่วมฝึกด้วยกับกองร้อย ปจ. คล้ายกับที่ปฏิบัติงานจริงในแต่ละหน้าที่
4. ออกประกาศกฎการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และส่งให้องค์กรเอกชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และสำนักตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลได้ตรวจสอบเห็นชอบ และฝึกกำลังพลในการเผชิญเหตุตามแนวทาง 1. จัดทำคู่มือการควบคุมคุมฝูงชนของ ตร. ที่พัฒนาและทันสมัยและเหมาะสมกับประเทศไทย มากกว่าใช้ของต่างประเทศ
2. จัดระบบการฝึกอบรมการควบคุมฝูงชน 3 หลักสูตร
2.1 กำลังพลในกองร้อยควบคุมฝูงชนทั่วไป
2.2 ผู้ปฏิบัติงานอาวุธพิเศษในการควบคุมฝูงชน เช่น เครื่องยิงแก๊สน้ำตา ระเบิดขว้าง กระสุนยาง
2.3 ระบบบัญชาการเหตุวิกฤติการควบคุมฝูงชน (อบรม ผบ.หมวด ผบ.ร้อย ฝ่ายอำนวยการและผู้บังคับบัญชา)
3. กำหนดให้บันทึกการฝึกอบรมและการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมฝูงชนลงในสมุดประจำตัวสายตรวจตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 24
บทที่ 22 นอกเหนือจากบันทึกใน กพ.7 1. บช.ศ. , รร.นรต. และ บช.ต่าง ๆ จัดการฝึกอบรมและบันทึกผลการฝึกอบรมลงในสมุดประจำตัวสายตรวจ เพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยกลักการพื้นฐานของการใช้กำลังและอาวุธของผู้รักษากฎหมาย
2. จัดการฝึกกองร้อยควบคุมฝูงชนผู้บังคับบัญชาให้ครบทุกหลักสูตร และให้เหมือนปฏิบัติการจริง
3. ในการฝึกทุกระดับให้นำกฎการใช้กำลังของ ตร.ไปทำการฝึกด้วย โดยอาจออกแนวทางการปฏิบัติเฉพาะเหตุที่ต้องเผชิญแต่ละภารกิจ (Graduated Response matrix =GRM)
2 –
ลำดับ หัวข้อ ข้อควรปฏิบัติของ บช.น. ข้อควรปฏิบัติของ ตร. ข้อควรปฏิบัติ บช.ต่าง ๆ
นี้โดยอาจออกแนวทางการปฏิบัติเฉพาะเหตุที่ต้องเผชิญแต่ละภารกิจ (Graduated Response Matrix =GRM) เช่น ถ้าประชาชนขว้างไข่ใส่ตำรวจ ตำรวจจะไม่ตอบโต้ แต่ถ้าทุบกระจกทางเข้าโรงแรมตำรวจจะจับกุม หรือใช้แก๊สน้ำตา เป็นต้น 4. ศปก.ตร., บช.ศ. และ รร.นรต. จัดการวิเคราะห์วิจัยและพัฒนาหลักนิยมในการฝึกสรุปบทเรียนทำเป็นตำราหลักนิยมคล้ายกับที่ปฏิบัติงานจริง
5. จัดทำระบบคู่มือการฝึกหรือคู่มือปฏิบัติงานให้มีระบบคล้ายคู่มือราชการสนามตามแบบของกองทัพบกไทย
6. จัดทำระบบสมรรถนะเฉพาะตำแหน่ง โดยเน้นการฝึกและสมรรถนะด้านการควบคุมฝูงชนให้มีชุดครูฝึกที่มีสมรถนะสูงสุด ทำการฝึกหลักสูตรกำลังพลในกองร้อยควบคุมฝูงชนทั่วไปได้
7. ออกกฎการใช้กำลังโดยขออนุมัติจากรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และฝึกกำลังพลทุกระดับตามแนวกฎการใช้กำลัง
2 ระบบการข่าว 1. นำระบบการฝึก การบัญชาการเหตุการณ์ และระบบการแสวงข้อตกลงใจทางทหารมาใช้ในการฝึกและการปฏิบัติงานจริง โดยฝ่ายการข่าวและเจ้าหน้าที่ใน ศปก.จะต้องทำหน้าที่ในส่วนของตนเพื่ออำนวยการให้การปฏิบัติหน้าที่ของกองร้อยควบคุมฝูงชนที่อยู่ในพื้นที่ได้มีข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยตลอดเวลา
2. ประเมินภัยคุกคามในเชิงเลวร้ายทีสุดในการรักษาความปลอดภัย 1. จัดระบบ ศปก.ตร.เป็น ทก.ส่วนหลัง ในการประสานงานด้านการข่าวนอกเขตพื้นที่ บช.ต่างๆ สนับสนุนการปฏิบัติของ บช.ที่เกิดเหตุวิกฤตหรือากรชุมนุม
2. กระจายข่าวกรองของ ศปก.ตร.ให้ทันเวลา บริการแก่หน่วยกำลังหรือ 1. จัดระบบ ศขส.สภ.มีฐานข้อมูลข่าวประจำตู้ยามสายตรวจตำบลเกี่ยวกับแกนนำทุกกลุ่ม
2. มีระบบเกาะติดแจ้งเตือนความเคลื่อนไหวของกลุ่ม

- 3 -
ลำดับ หัวข้อ ข้อควรปฏิบัติของ บช.น. ข้อควรปฏิบัติของ ตร. ข้อควรปฏิบัติ บช.ต่าง ๆ
การจัดงานต่างๆ กองร้อย ปจ.ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่
3. ดำเนินมาตรการประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Communition) เพื่อสร้างความชอบธรรม และประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่หน่วยตำรวจ แกนนำในพื้นที่ของสายตรวจตำบล ตู้ยาม และอำนวยความสะดวกแกนนำที่จะเข้าไปชุมนุมตั้งแต่ต้นทาง
3 การพัฒนาขวัญและกำลังใจของกำลังพลทำหน้าที่ควบคุมฝูงชน 1.ดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อให้ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีความภาคภูมิใจในภารกิจที่ทำ ในยามที่ยังไม่มีเหตุ โดยไม่ต้องรอการปฏิบัติการข่าวสารเมื่อมีการปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือมีประเด็นที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุแล้ว
2.ใช้ระบบสมรรถนะเฉพาะตำแหน่งผู้รับเงินเสี่ยงภัยต้องผ่านการทดสอบสมรรถนะทุกปี แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ร้อย ปจ.ควรกำหนดให้ผ่านการทดสอบทันทีเมื่อผ่านการฝึก ปจ. และทำหน้าที่ 10 ครั้งต่อปีขึ้นไป โดยบันทึกไว้ในสมุดประจำตัวสายตรวจ 1. ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบการประชาสัมพันธ์หรือปฏิบัติการจิตวิทยาของ ตร.ดำเนินการตามแผนประชาสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ในการควบคุมฝูงชน
2. จัดทำระบบคะแนนเพิ่มในการเป็นแต้มต่อในการสอบเลื่อนฐานะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร กรณีที่ทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนหรือปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อันตราย ปฏิบัติแนวทางเดียวกับ บช.น.
4 การพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ 1.จัดทำระบบนโยบายการใช้อุปกรณ์ในการควบคุมฝูงชนต่างๆ หรือกฎการใช้กำลัง การใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น เครื่องยิงแก๊สน้าตา เครื่องช็อตไฟฟ้าเทเซอร์ (การฝึกครั้งนี้ชุดอาวุธพิเศษของ กก.2 ตปพ.มีเครื่องช็อตไฟฟ้าไปร่วมฝึกด้วย แต่ยังไม่ได้ใช้แสดงและยังไม่มีกฎการใช้ที่ผู้บังคับบัญชาอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร 1. จัดระบบให้โรงเรียนตำรวจ หรือ ศฝร.มีระบบการรับรองคู่มือและมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมฝูงชน เช่น กระสุนแก๊สน้ำตา กระสุนยาง เพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าใช้อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานยิงไปแล้วทำให้มีผู้เสียชีวิต
- 4 -
ลำดับ หัวข้อ ข้อควรปฏิบัติของ บช.น. ข้อควรปฏิบัติของ ตร. ข้อควรปฏิบัติ บช.ต่าง ๆ
2. ประสานกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชบให้มีหน่วยงานในการทำหน้าที่รับรองความมีมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนมากกว่าที่จะออกมาวิจารณ์เมื่อมีเหตุสงสัยถึงอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว 1. ตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์การควบคุมฝูงชนให้ตรงตามมาตรฐานและจำหน่ายอุปกรณ์ที่หมดอายุแล้ว เช่น แก๊สน้ำตา



ตรวจแล้วถูกต้อง

พ.ต.อ.
(ณรงค์ ทรัพย์เย็น)
ผกก.ฝอ.2 บก.อก.ภ.7

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

คู่มือการเขียนแผนปฏิบัติราชการสถานีตำรวจ

คู่มือ
การจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปี
ของสถานีตำรวจ





จัดทำโดย
พันตำรวจเอก ณรงค์ ทรัพย์เย็น
ฝ่ายอำนวยการ ๒ กองบังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค ๗



คำนำ

แผนปฏิบัติราชการของสถานีตำรวจนับว่าเป็นหัวใจในการบริหารงานที่สำคัญ ซึ่งใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการทุกด้านของสถานีตำรวจ อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางในการให้บริการประชาชนและใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจในการกำหนดทางเลือกในการบริหารของผู้บริหารสถานีตำรวจ
จึงหวังว่าเอกสารคู่มือการจัดทำแผนปฏิบัติการของสถานีตำรวจเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร งานตำรวจและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมทั้งประชาชน



พันตำรวจเอก ณรงค์ ทรัพย์เย็น
ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ ๒กองบังคับการอำนวยการ
ตำรวจภูธรภาค ๗
๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ วันมหาสงกรานต์เดือด
โทร.๐๘๑-๙๘๑๑๘๘๖ email:sapyen.na@gmail.com
Blog:sapyenna.blogspot.com


สารบัญ
หน้า

หลักการและเหตุผล 1
ความสำคัญและประโยชน์ของการจัดทำแผน 2
ส่วนประกอบของแผนปฏิบัติราชการ 2
กระบวนการบริหารตามแผนปฏิบัติราชการ
ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติราชการกับการดำเนินงาน 3
ขั้นตอนในการจัดทำแผน 3
- การวิเคราะห์สถานภาพของหน่วยงาน 4
- การสร้างกลยุทธ์หน่วยงาน 5
- การวิเคราะห์งบประมาณหน่วยงาน 6
- การจัดทำโครงการ/กิจกรรม 6
- หัวข้อการเขียนโครงการ 6 - 7
วิธีการจัดทำโครงการ 8
การดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรม 8
แบบสรุปรายงานผลการดำเนินโครงการ 9
ภาคผนวก
ใบงานที่ 1 – 5 10 - 14
# สิ่งที่ต้องกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ 15
บรรณานุกรม




หลักการและเหตุผล
แผนปฏิบัติการ หรือ แผนปฏิบัติราชการ ตามคู่มือนี้ ให้ถือว่าเป็นชื่อเรียกอย่างเดียวกัน เนื่องจากตามตำราหรือเอกสารทางวิชาการทั่วไป จะเรียกแผนทางด้านการบริหารที่กำหนดรายละเอียดโครงการ เป้าหมาย การทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ นี้ว่า แผนปฏิบัติการ แต่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พุทธศักราช 2546 มาตรา ๙กำหนดไว้ว่า
“(๑) ก่อนจะดำเนินการตามภารกิจใด ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการไว้เป็นการล่วงหน้า
(๒) การกำหนดแผนปฏิบัติราชการของส่วนราชการตาม (๑) ต้องมีรายละเอียดของขั้นตอน ระยะเวลา และงบประมาณ ที่จะใช้ในการดำเนินงานของแต่ละขั้นตอน เป้าหมายของภารกิจ ผลสัมฤทธิ์ของภารกิจ และตัวชี้วัดผลสำเร็จของภารกิจ...”
และในมาตรา 16 กำหนดให้ส่วนราชการต้องจัดทำแผนปฏิบัติการ 2 ประเภท ดังนี้
1. แผนปฏิบัติการ 4 ปี โดยต้องสนองต่อนโยบายและกลยุทธ์ของรัฐบาลและหน่วยงานต้นสังกัด
2. แผนปฏิบัติราชการประจำปี (จัดทำตามปีงบประมาณ)โดยให้ระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการปฏิบัติของส่วนราชการดังนี้
- เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน
- ประมาณการรายได้และรายจ่าย และทรัพยากรอื่นที่ต้องใช้
แผนปฏิบัติการของหน่วยงานประกอบด้วยรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแผนดำเนินการ
1. ผลผลิตที่หน่วยงานกำหนด
2. เป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน
3. ตัวชี้วัดผลผลิต (ด้านปริมาณ,ด้านคุณภาพ,ต้นทุนและระยะเวลา)
4. งบประมาณที่ใช้
ในการจัดทำงบประมาณและการบริหารงบประมาณตามนโยบายภาครัฐ กำหนดให้เป็นไปตามระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Performance Base Budgeting : SPBB) ดังนั้นหน่วยงานจะต้องจัดทำแผนการให้บริการ กำหนดเป็นผลผลิตและตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ในเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลาและต้นทุน ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของแต่ละปี และใช้ในการจัดทำข้อตกลงการจัดทำผลผลิต (SDA) ระหว่างหน่วยงานหรือคำรับรองการปฏิบัติราชการต่อไป
ดังนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค ตำรวจภูธรจังหวัด และหน่วยงานตำรวจทุกระดับ รวมทั้ง สถานีตำรวจ จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ โดยมีสาระของการให้บริการเดิมและสาระของการให้บริการใหม่ที่รัฐ หรือหน่วยงานต้นสังกัด เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค หรือนโยบายของผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับโดยตรง เพิ่มเติมนโยบายใหม่เข้ามา จัดทำเป็นงานหรือโครงการ โดยมีกิจกรรมแสดงเป็นรายละเอียดการทำงาน เพื่อกำหนดให้กิจกรรมเป็นตัวแทนของศูนย์ต้นทุน ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ สำนักงบประมาณจะกำหนดให้นำค่าใช้จ่ายของศูนย์ต้นทุนดังกล่าวไปผ่านกระบวนการคำนวณต้นทุนกิจกรรมและต้นทุนผลผลิตต่อไป เพื่อนำไปใช้สำหรับวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการตามแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ และใช้ต้นทุนผลผลิตและต้นทุนกิจกรรมสำหรับประมาณการ การจัดทำงบประมาณของหน่วยงานต่อไป ตลอดจนใช้พัฒนาต้นทุนของสถานีตำรวจ และ ของทุกหน่วยงาน เพื่อความเพียงพอสำหรับการจัดทำผลผลิตที่มีบริบทที่แตกต่างกันไป

ความสำคัญและประโยชน์ของการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ
1. เพื่อใช้เป็นกรอบ ทิศทาง และแนวทางในการพัฒนาหน่วยงาน
2. เพื่อใช้เป็นคู่มือในการบริหารจัดการหน่วยงาน
3. ใช้เป็นกรอบบริหารจัดการงบประมาณของหน่วยงาน
4. เพื่อให้หน่วยงานมีกรอบในการวางแผนและตัดสินใจในการกำหนดทางเลือกในการบริหารงบประมาณ
5. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีในปีต่อไป
6. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น

ส่วนประกอบของแผนปฏิบัติการ
1. ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป เป็นข้อมูลพื้นฐานของสถานีตำรวจทั้งหมด
2. ส่วนที่ 2 ทิศทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ เป้าหมายผลผลิต ตัวชี้วัด (ซึ่งควรต้องสอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ผู้บังคับบัญชาได้จัดทำขึ้นตามระบบคำรับรองปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ)
3. ส่วนที่ 3 สรุปโครงการ/งบประมาณ
4. ส่วนที่ 4 รายละเอียดโครงการตามกลยุทธ์
ภาคผนวก


กระบวนการบริหารงานตามแผนปฏิบัติการ
1. วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค(SWOT Analysis) หน่วยงานทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกหน่วยงานและสภาพแวดล้อมภายในหน่วยงาน
2. กำหนดทิศทางของหน่วยงานเพื่อให้ได้วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์
3. กำหนดยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ให้ออกมาเป็นแผนงาน(กลยุทธ์) โครงการ กิจกรรม งบประมาณ
4. ดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรมที่กำหนด (โดยผ่านความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยในที่นี้คือ ผู้กำกับการ หรือ สารวัตรใหญ่ สารวัตร แล้วแต่ระดับของสถานีตำรวจ)
5. การควบคุมการดำเนินงานตามโครงการ/กิจกรรมที่กำหนด
6. การติดตาม กำกับ ประเมินผล ทบทวน โครงการ/กิจกรรม เพื่อประเมินสภาพหน่วยงานหลังจากการปฏิบัติตามโครงการ/กิจกรรมแล้ว
7. พัฒนา ปรับปรุงตามผลงานจากการติดตามประเมินผล

ความสัมพันธ์ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติราชการกับการดำเนินงาน
1. การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) หรือแผนปฏิบัติราชการ มีขั้นตอนดังนี้
กำหนดผลลัพธ์ (Outcome or Goals) หน่วยงานต้องกำหนดผลลัพธ์ของหน่วยงานที่ต้องการ
ผลผลิต (Outputs or Objective) หมายถึงผลผลิตที่หน่วยงานต้องการ กระบวนการ (Process) กำหนดกระบวนการที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลผลิตและผลลัพธ์ที่กำหนด
ทรัพยากร (Inputs) หมายถึงทรัพยากรต่างๆที่หน่วยงานใช้ในการดำเนินตามกระบวนการที่กำหนด(เงิน คน วัสดุอุปกรณ์)
2. การดำเนินงาน มีขั้นตอนดังนี้
ทรัพยากร กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์


การดำเนินงาน มีขั้นตอนดังนี้
1. การวิเคราะห์สถานภาพของหน่วยงานและสภาพแวดล้อม(โดยวิธี SWOT Analysis)
2. กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ โดยนำมาจากยุทธศาสตร์ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ของตำรวจภูธรภาค ยุทธศาสตร์ของจังหวัด และยุทธศาสตร์ของตำรวจภูธรจังหวัด ปรับให้สอดคล้องกับกำหนดหน้าที่การงาน หรือภารกิจของหน่วยหรือสถานีตำรวจ
3. กำหนดเป้าหมาย โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัด โดยนำมาจากตัวชี้วัดของ ตร.ตำรวจภุธรภาค ตำรวจภะรจังหวัดและจากพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี และของหน่วยเหนือ และปรับปรุงให้ให้เข้ากับสภาพของหน่วยงานหรือความเหมาะสม
4. กำหนดกลยุทธ์ หรือแผนงานให้สอดคล้องกับ เป้าหมาย หรือตัวชี้วัด
5. การเขียนรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม/งบประมาณ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และตัวชี้วัด
6. การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี เป็นการรวบรวมส่วนต่างๆเป็นแผนปฏิบัติการและการปฏิบัติตามโครงการ/กิจกรรม (Implementation)
7. การควบคุม กำกับ ติดตามการปฏิบัติตามโครงการ/กิจกรรม
8. การประเมินผลและการรายงานผล


1. การวิเคราะห์สถานภาพของหน่วยงาน เพื่อให้ทราบจุดอ่อนและจุดแข็งของหน่วยงานและวิธีการปรับปรุงจุดอ่อนและการส่งเสริมปรับปรุงจุดแข็งของหน่วยงาน
การฝึกปฏิบัติ
1. แบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น 5 กลุ่ม (5 งานของสถานีตำรวจ คือ งานอำนวยการ,ป้องกันปราบปราม สืบสวน สอบสวน จราจร) ให้เวลาในการประชุม 50 นาที ให้อภิปรายในเรื่องจุดอ่อน และจุดแข็งของหน่วยงาน วิธีการแก้ปัญหาจุดอ่อนและวิธีการส่งเสริมพัฒนาจุดแข็งของหน่วยงานตามตารางดังนี้ (สามารถหลอมรวมข้อความได้)

จุดอ่อน วิธีการปรับปรุงจุดอ่อน จุดแข็ง การส่งเสริมพัฒนาจุดแข็ง




2. นำผลจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง มากำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ (นำวิธีแก้ไขจุดอ่อนจุดแข็ง)
การกำหนดวิสัยทัศน์ เป็นการแสดงถึงความต้องการให้สถานีตำรวจเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต โดยย้อนมองอดีต มองปัจจุบัน วาดฝันอนาคตและนำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์(ใบงานที่ 2)
วิสัยทัศน์สถานีตำรวจ.............................................................................................................................................
.........................................................................................................................................................................
การกำนดพันธกิจ เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่หรือกิจกรรมที่จะทำให้สถานีตำรวจดำเนินไปกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดได้
พันธกิจ 1.......................................................................................................................................................
2........................................................................................................................................................
3.......................................................................................................................................................
การกำหนดเป้าประสงค์ เป็นการกำหนดบทบาทหน้าที่หรือกิจกรรมที่จะทำให้สถานีตำรวจดำเนินไปกับวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
เป้าประสงค์ 1............................................................................................................................................. 2.............................................................................................................................................
3..............................................................................................................................................


3. กลุ่มย่อยนำเสนอผลการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง วิธีการพัฒนาปรับปรุง การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ
เป้าประสงค์ ต่อกลุ่มใหญ่ ช่วยกันปรับปรุงหลอมรวมข้อความให้สอดคล้องกันและสรุปวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์
วิสัยทัศน์สถานีตำรวจ.............................................................................................................................................
.........................................................................................................................................................................
พันธกิจ 1.......................................................................................................................................................
2........................................................................................................................................................
3.......................................................................................................................................................
เป้าประสงค์ 1............................................................................................................................................. 2.............................................................................................................................................
3..............................................................................................................................................

2. การสร้างประเด็นยุทธศาสตร์ของ สถานีตำรวจ กำหนดตัวชี้วัดและแนวทางในการดำเนินการ
แบ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาออกเป็น 5 กลุ่ม ( 5 งานของสถานีตำรวจ) ให้ศึกษาประเด็นยุทธศาสตร์ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจภูธรภาค ตำรวจภูธรจังหวัด ต้นสังกัด กำหนดตัวชี้วัดตามกลยุทธ์และแนวทางในการดำเนินการ (กลยุทธ์ ตัวชี้วัด และแนวทางการดำเนินงาน) ให้วิเคราะห์เฉพาะที่หน่วยงานสามารถปฏิบัติได้) แล้วนำมาเป็นกลยุทธ์ของหน่วยงาน กำหนดตัวชี้วัดของหน่วยงาน และแนวทางในการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของหน่วยงาน (ใบงานที่ 3)
กลยุทธ์ที่ 1 ......................................................................................................................................................
.....................................................................................................................................................................................
ตัวชี้วัด............................................................................................................................................................
.....................................................................................................................................................................................
แนวทางดำเนินงาน........................................................................................................................................
.....................................................................................................................................................................................
3. การวิเคราะห์งบประมาณของหน่วยงาน โดยคาดการณ์จากจำนวนข้าราชการตำรวจ และดูจากการจัดสรรงบประมาณจาก ตำรวจภูธรจังหวัดให้แก่สถานีตำรวจในปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์หรือแนวทาง (ตามใบงานที่ 4)
3.1 การวิเคราะห์งบประมาณสำหรับแผนปฏิบัติการระยะปานกลาง (3-5 ปี) เป็นการคาดถึงจำนวนงบประมาณที่จะได้รับในแต่ละปี โดยใช้จำนวนข้าราชการตำรวจเป็นตัวกำหนดแล้วนำมาคูณกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จะได้รับในแต่ละระดับชั้น โดยวิธีการดังนี้
- คาดการณ์จากจำนวนข้าราชการตำรวจที่สถานีตำรวจได้คาดว่าจะได้รับจัดสรร หรือโยกย้ายมา
- คาดการณ์โดยคำนึงถึงปัจจัยภายใน ขีดความสามารถที่รับได้ จำนวนตำรวจ ขนาดหรือความเจริญของพื้นที่หรือภารกิจ เช่น มีการเปิดโรงงาน ศูนย์การค้า หรือศูนย์ราชการใหม่ในพื้นที่
- คาดการณ์โดยคำนึงถึงปัจจัยภายนอก ความนิยม จำนวนประชากรในชุมชน สภาพเศรษฐกิจ สภาพชุมชน
3.2 การวิเคราะห์งบประมาณสำหรับแผนปฏิบัติการประจำปี ให้ใช้จำนวนข้าราชการตำรวจในปีงบประมาณนั้นๆ(ช่วงตุลาคม) มาเป็นตัวกำหนด แล้วนำมาคูณกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จะได้รับ ก็จะทำให้ทราบถึงรายรับของสถานีตำรวจในปีงบประมาณนั้นๆ รวมถึงรายรับด้านอื่นที่สถานีตำรวจจะได้รับค่อนข้างแน่นอน เช่นเงินอุดหนุนสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจจะได้รับจัดสรรจาก ตร.โดยตรงเดือนละ20,000-50,000 บาท แล้วแต่ขนาดของสถานีตำรวจ หรือเงินงบประมาณ หรือน้ำมันเชื้อแพลิง ที่จะได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4. การจัดทำโครงการ/กิจกรรม มี 2 แบบ
4.1 แบบประเพณีนิยม เป็นการเขียนโครงการตามความถนัดหรือความต้องการของบุคคล ผู้บริหารหรือสถานีตำรวจ เป็นหลัก โดยไม่มีการยึดกลยุทธ์ของแต่ละหน่วยงานต้นสังกัด
4.2 แบบเหตุผลสัมพันธ์ เป็นการเขียนโครงการที่ผสมผสาน ความต้องการของสถานีตำรวจและกลยุทธ์ของหน่วยงานต้นสังกัด โดยการนำกลยุทธ์ของต้นสังกัดมาปรับให้เข้ากับความต้องการของสถานีตำรวจ
หัวข้อการเขียนโครงการ ประกอบด้วย (ใบงานที่ 5)
1. ชื่อโครงการที่ต้องดำเนินการ ผู้รับผิดชอบ กลยุทธ์ที่ ลักษณะโครงการ งานที่รับผิดชอบ ผู้รับผิดชอบ
ระยะเวลาดำเนินการ
2. หลักการและเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องมีโครงการนั้นๆ ความเป็นมา
3. วัตถุประสงค์โครงการ แสดงให้เห็นถึงผลที่จะเกิดหลังจากทำโครงการนี้
4. เป้าหมายของโครงการ เป็นการกำหนดผลงานของโครงการ โดยให้กำหนดเป็นตัวชี้วัด
ด้านปริมาณ แสดงเป้าหมายเป็นจำนวน
ด้านคุณภาพ แสดงถึงลักษณะเฉพาะอย่างของผลงาน
5. วิธีดำเนินการ แสดงถึงวิธีดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด จะแสดงถึงลำดับขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรม (Activities plan)
6. งบประมาณ งบประมาณที่จะใช้ในโครงการและรายละเอียดค่าใช้จ่ายในแต่ละด้าน แต่ละรายการ แหล่ง
รายการงบประมาณ(กิจกรรม) งบประมาณทั้งสิ้น ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์


รวม

7. การวัดและประเมินผล เป็นการประเมินผลสำเร็จของโครงการ โดยการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ วิธีการประเมิน เครื่องมือที่ใช้วัด

ตัวชี้วัดความสำเร็จ วิธีวัด/ประเมินผล เครื่องมือวัด ผู้ควบคุม





8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ เป็นการคาดคะเนผลของโครงการ หลังจากดำเนินกิจกรรมแล้ว
- ด้านปริมาณ
- ด้านคุณภาพ
9. ผู้เสนอโครงการ - เช่น สว.ผู้รับผิดชอบงาน
ผู้เห็นชอบโครงการ –เช่น รองผู้กำกับการหัวหน้างานสถานีตำรวจ
ผู้อนุมัติโครงการ - ควรเป็น หัวหน้าสถานีตำรวจ ที่เป็นผู้อนุมัติโครงการ




\


วิธีการจัดทำโครงการ
1. นำแนวทางดำเนินงานจากขั้นตอนการสร้างกลยุทธ์หน่วยงานมาบูรณาการเข้ากับวิธีการปรับปรุงจุดอ่อนหรือการส่งเสริมพัฒนาจุดแข็งของหน่วยงาน เพื่อให้เป็นโครงการ/กิจกรรม ตามความต้องการจำเป็นเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการจัดกิจกรรมของสถานีตำรวจ
2. นำแนวทางที่ได้หลังจากที่ได้บูรณาการแล้วมาเขียนโครงการตามรูปแบบที่กำหนด
3. นำเสนอโครงการเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบหรืออนุมัติจากหัวหน้างานโดยผ่านหัวหน้าสายงานที่รับผิดชอบ
4. นำเสนอโครงการในที่ประชุมผู้บริหารสถานีตำรวจ เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการ หรือพิจารณาปรับปรุงโครงการให้เหมาะสม หรือถ้าสถานีตำรวจใด หัวหน้าสถานีตำรวจใช้ระบบอนุมัติงบประมาณรวมศูนย์ที่ตัว หัวหน้าสถานีตำรวจตัดสินใจเพียงคนเดียว ก็ควรต้องให้ หัวหน้าสถานีตำรวจอนุมัติงบประมาณ หรือถ้าไม่มีงบประมาณ ก็ควรจะปรึกษาหัวหน้าสถานีตำรวจว่าจะหางบประมาณมาได้จากช่องทางใด เช่น ขอสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. พิจารณาโครงการตามความจำเป็นและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของหน่วยงาน พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการตามความเหมาะสมภายใต้กรอบวงเงินที่ได้ประมาณการไว้ล่วงหน้าแล้ว
6. เสนอโครงการที่ได้รับพิจารณาให้ผู้มีอำนาจเห็นชอบโครงการและอนุมัติโครงการ และเรียงลำดับความสำคัญของโครงการ (ในกรณีที่โครงการนั้น ต้องใช้เงินงบประมาณจากส่วนอื่น นอกเหนือจากของสถานีตำรวจ ก็ควรให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยงานที่จัดสรรเงินเป็นผู้อนุมัติโครงการ หรือให้เป็นเจ้าของโครงการ เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบงานงบประมาณ และหรือระเบียบการพัสดุ)
7. นำโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วรวบรวมจัดทำรูปเล่ม
8. ดำเนินการตามกิจกรรม/โครงการ ที่ได้รับพิจารณา

การดำเนินการตามโครงการ/กิจกรรม
1. งานอำนวยการของสถานีตำรวจ จัดสรรงบประมาณให้กับโครงการตามความต้องการจำเป็นเร่งด่วน นำเสนอหัวหน้าสถานีตำรวจ ให้ความเห็นชอบและแจ้งให้เจ้าของโครงการทราบ
2. ผู้รับผิดชอบโครงการขออนุมัติดำเนินการตามโครงการ โดยทำบันทึกแนบโครงการผ่านงานอำนวยการ ตรวจสอบความถูกต้องของโครงการและงบประมาณ
3. เสนอขออนุมัติการดำเนินการต่อหัวหน้าสถานีตำรวจ
4. ดำเนินการตามโครงการ/กิจกรรม
5. ผู้บริหาร เช่น หัวหน้าสถานีตำรวจ รองผู้กำกับการ หรือรองหัวหน้าสถานีตำรวจ หัวหน้าสายงาน ติดตามการดำเนินการตามโครงการ/กิจกรรม
6. เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการสรุปและรายงานผลการดำเนินการตามแบบสรุปโครงการ



แบบสรุปรายงานผลการดำเนินงานโครงการ

1. ชื่อยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์................................................................................................................................................
2. ชื่อโครงการ..............................................................................................................................................
ระยะเวลา......................................................ผู้รับผิดชอบ........................................................................
3. วัตถุประสงค์.............................................................................................................................................
ผลที่คาดหวัง..............................................................................................................................................
4. กิจกรรม....................................................................................................................................................
5. ตัวชี้วัดความสำเร็จ....................................................................................................................................
6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ..................................................................................................................................
7. งบประมาณ..............................................................................................................................................
แหล่งงบประมาณ จำนวนที่ได้รับ จำนวนที่ใช้ คงเหลือ หมายเหตุ
งบประมาณ ตร./หน่วยเหนือ
งบประมาณจากหน่วยงานอื่น
เงินนอกงบ
รวม

8. ผลการดำเนินงาน
ผลที่คาดหวัง ผลที่ได้รับ ผลลัพธ์/หน่วย
(ร้อยละความสำเร็จ)
ด้านปริมาณ ด้านคุณภาพ ด้านปริมาณ ด้านคุณภาพ



9. สรุป...........................................................................................................................................................
10. ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ................................................................................................................

ลงชื่อ......................................................ผู้รับผิดชอบโครงการ ลงชื่อ.............................................ผู้ประเมินผล
(.....................................................) (............................................)
ตำแหน่ง.................................................. ตำแหน่ง หัวหน้าสถานีตำรวจ.............................



กลุ่มที่.............................................
ใบงานที่ 1 วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งหน่วยงานและวิธีปรับปรุงพัฒนา

จุดอ่อน วิธีการปรับปรุงจุดอ่อน จุดแข็ง วิธีการส่งเสริมพัฒนาจุดแข็ง










ใบงานที่ 2 การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์

วิสัยทัศน์...........................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................

พันธกิจ............................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................

เป้าประสงค์......................................................................................................................................................
....................................................................................................................................................................................... .......................................................................................................................................................................................


ใบงานที่ 3 การสร้างกลยุทธ์ ตัวชี้วัด แนวทางดำเนินงาน

กลยุทธ์ที่ (ข้อความกลยุทธ์).........................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................
ตัวชี้วัดกลยุทธ์…………………………………………………………………………………………………………
.......................................................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................
แนวการดำเนินงาน........................................................................................................................................................
.......................................................................................................................................................................................

ใบงานที่ 4 การวิเคราะห์งบประมาณหน่วยงาน

สายงาน ปีงบประมาณ 2550 ปีงบประมาณ 2551 ปีงบประมาณ 2552 ปีงบประมาณ 2553
ข้าราชการตำรวจ งบประมาณ ข้าราชการตำรวจ งบประมาณ ข้าราชการตำรวจ งบประมาณ ข้าราชการตำรวจ งบประมาณ
งานอำนวยการ
งานป้องกันปราบปราม
งานสืบสวน
งานจราจร
งานสอบสวน







รวมงบประมาณทั้งสิ้น

ใบงานที่ 5 การจัดทำโครงการ/กิจกรรม

โครงการ........................................................................................................................................................................
กลยุทธ์ที่.......................................................................................................................................................................
ลักษณะโครงการ..........................................................................................................................................................
งานที่รับผิดชอบ...........................................................................................................................................................
ผู้รับผิดชอบ..................................................................................................................................................................
ระยะเวลาดำเนินการ....................................................................................................................................................
หลักการและเหตุผล.......................................................................................................................................................
...................................................................................................................................................................................... ......................................................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................................................
วัตถุประสงค์
......................................................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................................................
เป้าหมาย
เชิงคุณภาพ.....................................................................................................................................................
เชิงปริมาณ.....................................................................................................................................................
วิธีดำเนินการ
......................................................................................................................................................................................
......................................................................................................................................................................................

แผนการดำเนินงาน
กิจกรรม ระยะเวลา ผู้รับผิดชอบ ผู้ควบคุม
ตค พย ธค มค กพ มีค เมย พค มิย กค สค กย





งบประมาณ รวมทั้งสิ้น...............................บาท
รายการงบประมาณ(กิจกรรม) งบประมาณทั้งสิ้น ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ ค่าครุภัณฑ์



รวม

การวัดและประเมินผล
ตัวชี้วัดความสำเร็จ วิธีวัด/ประเมินผล เครื่องมือวัด ผู้ควบคุม







ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ด้านคุณภาพ.....................................................................................................................................................
ด้านปริมาณ....................................................................................................................................................


ผู้เสนอโครงการ ผู้เห็นชอบโครงการ
ลงชื่อ.................................................. ลงชื่อ......................................................
(……………………………….) (...................................................)
ตำแหน่ง.................................................... ตำแหน่ง.....................................................

ผู้อนุมัติโครงการ
ลงชื่อ.......................................
(........................................)
ตำแหน่ง ผู้กำกับการสถานีตำรวจ................

15.สิ่งที่ควรกำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ(โครงการ)

1. ระบุชื่อผู้รับผิดชอบโครงการให้ชัดเจน
2. ระบุจำนวนวันและระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
3. ระบุกลุ่มและกลุ่มงานที่รับผิดชอบโครงการ
4. ระบุเป้าหมายของโครงการทั้งด้านคุณภาพและด้านปริมาณ
5. กำหนดมาตรฐานคุณภาพของงาน สถานีตำรวจ ตามตัวชี้วัด โครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชน
6. กำหนดผลผลิตของโครงการ
7. งบประมาณที่ใช้ต้องระบุรายการให้ชัดเจน
- ค่าตอบแทน - ค่าใช้สอย - ค่าวัสดุ (ระบุรายการ)




บรรณานุกรม

1. ดร.วัฒนา พัฒนพงษ์ :(2547) BSC และ KPI เพื่อการเติบโตขององค์กรอย่างยั่งยืน,พิมพ์ดีการพิมพ์,กรุงเทพฯ.
2. สำนักงาน กพร.:(2548),การจัดทำแผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติราชการประจำปี การติดตามผล
เว็อบไซด์ สำนักงาน กพร.
3. สำนักงาน กพร.:(2548),การแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติด้วยการบริหารโครงการ เว็บไซด์สำนักงาน กพร.
4. สำนักงบประมาณ : (2552) ,แนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๔)เพื่อการจัดทำงบประมาณ เว็บไซด์ สำนักงบประมาณ
--------------------------------------------------------------