วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ร่างนโยบายการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(ร่าง)นโยบายการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง

1. วัตถุประสงค์
เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางวิธีการประยุกต์ใช้กับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนสำหรับตำรวจหน่วยในสังกัด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นภายใต้กรอบของกฎหมายและแบบธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข ในแต่ละสถานการณ์ให้เหมาะสมกับการยอมรับของสังคมและประชาคมโลก

2. นโยบายหลัก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชน ดังนี้
2.1 เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือของบุคคล สังคม สถาบันหลักของชาติ และประเทศชาติเป็นส่วนรวม
2.2 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน สังคม และประเทศชาติ
2.3 เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธที่ไม่รบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามรัฐธรรมนูญ
2.4 เน้นการป้องกันการชุมนุมเรียกร้องโดยการลดเงื่อนไขความขัดแย้งด้วยนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และปฏิบัติการด้านการข่าว การใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ มากกว่าการรอแก้ปัญหาเมื่อมีการชุมนุมเรียกร้องแล้ว โดยการใช้กำลังและหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาแบบสันติวิธีหรือพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง หากจำเป็นต้องใช้กำลังจะใช้ตามกรอบแนวทางกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและหลักปฏิบัติที่เป็นสากล
2.5 เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาความสงบเรียบร้อย ขจัดความขัดแย้งในชุมชนด้วยระบบการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็งด้วยระบบการตำรวจชุมชนหรือการใช้วิทยากรกระบวนการ มีการจัดองค์กรประชาชนอย่างเป็นระบบให้มีความสำนึกต่อความสงบของชุมชนและของชาติโดยส่วนรวมเพื่อให้ข่าวแก่ทางราชการได้ตั้งแต่เริ่มมีเงื่อนไขหรือสิ่งบอกเหตุ ก่อนที่การชุมนุมเรียกร้องยังไม่ก่อตัวขึ้น
2.6 ส่งเสริมขวัญและกำลังใจ ภาพพจน์ของตำรวจ รักษาและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยและบุคลากรให้มีความสามารถอยู่ในสายงานหรือทำหน้าที่แก้ไขปัญหาความไม่สงบหรือการชุมนุมเรียกร้องให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลง

3. คำจำกัดความ
3.1 การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หมายถึง การใช้เทคนิคและวิธีการในการรักษาความสงบการชุมนุมเรียกร้องที่ถูกต้องตามกฎหมายในที่สาธารณะ ทั้งก่อนการชุมนุม ระหว่าง และหลังการชุมนุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของการชุมนุมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยรวมถึงการให้บรรลุภารกิจนี้โดยการประสานงานกับผู้จัดการชุมนุม หรือแกนนำและการสรุปวิจารณ์ปรับปรุงผลการปฏิบัติ
3.2 การควบคุมฝูงชน หมายถึง เทคนิคและวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่ผิดกฎหมาย โดยรวมถึงวิธีการแสดงกำลังของตำรวจ การควบคุมพื้นที่การชุมนุม เทคนิคการสลายการชุมนุม และวิธีการจับกุม หรือวิธีการอื่นใดในการรักษาความสงบหรือบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย
3.3 การชุมนุมเรียกร้องตามกฎหมาย หมายความรวมถึง รูปแบบการรวมตัวกันและแสดงออกเพื่อที่จะแสดงความคิดเห็น หรือข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อื่นทั้งโดยคำพูดและที่ไม่ใช่คำพูด เช่น การปราศรัย การชุมนุมประท้วง การยืนประท้วงป้องกันแนว การยกถือป้าย การแสดงหุ่น หรือการร้องเพลง โดยการแสดงออกเหล่านี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ไม่รบกวนสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด
3.4 การชุมนุมเรียกร้อง หมายความรวมถึง การชุมนุมของคนเป็นจำนวนมากในที่สาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งต้องใช้กำลังตำรวจในการจัดการจราจร จัดระเบียบการชุมนุม ควบคุมฝูงชนในส่วนที่ไม่เป็นระเบียบ การสลายฝูงชนหรือการปฏิบัติต่างๆ ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในสถานการณ์การชุมนุมรวมตัวของกลุ่มคน โดยอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดในเรื่อง ดังนี้ เช่น การเดินขบวน การประท้วง การผละจากห้องเรียน หรืองาน การรวมกลุ่มหรือการนั่งประท้วงรวมตัว โดยปกติกิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดจุดสนใจของประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมหรือผู้ที่เดินผ่านไปมา สื่อมวลชน หรือกลุ่มประชาชนที่อาจมีความคิดไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุม
3.5 สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้อง ในนโยบายนี้ให้มุ่งเน้นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้อง และอาจรวมถึงการชุมนุมเพื่อดูการแข่งขันกีฬา เทศกาลสำคัญ การแสดงคอนเสิร์ตหรือดนตรี การรวมพลังเลี้ยงสังสรรค์ การรวมตัวแสดงพลังทางการเมืองหรือแสดงพลังต่างๆ หรือการรวมตัวเพื่อเฉลิมฉลองแล้วกลุ่มชนดังกล่าวมีข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นจากวัตถุประสงค์แรกที่มารวมตัวกัน

4. หลักการ
4.1 การรักษาความสงบเรียบร้อยเหตุชุมนุมเรียกร้องเป็นหน้าที่ของตำรวจ
เมื่อเกิดเหตุชุมนุมเรียกร้องทั้งที่ถูกกฎหมายและที่ผิดกฎหมาย ทั้งที่เป็นเหตุที่เกิดขึ้นทันทีไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนหรือเป็นงานที่กำหนดขึ้น เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก การแข่งขันกีฬานานาชาติต่างๆ เป็นต้น แล้วมีการชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้น
4.1.1 หากพื้นที่การชุมนุมเรียกร้องเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีเจ้าพนักงานฝ่ายอื่นรับผิดชอบในการรักษาความสงบตามกฎหมายโดยตรงก็เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจที่ต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เช่น ทหาร ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานซึ่งต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในขณะที่ยังมิได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศกฎอัยการศึก หรือการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.2551 แต่หากมีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงดังกล่าวข้างต้นจะมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานฝ่ายอื่น เช่น ฝ่ายทหารให้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เป็นต้น หรือกรณีประเด็นในการชุมนุมเรียกร้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานอื่นมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโดยตรง เช่น การชุมนุมเพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน ซึ่งมีหน่วยงานฝ่ายแรงงานรับผิดชอบตามกฎหมายแรงงานโดยเฉพาะ บทบาทหน้าที่ของตำรวจควรจำกัดขอบเขตเฉพาะการรักษาความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของการชุมนุมเรียกร้องรวมทั้งดำเนินการให้การชุมนุมเรียกร้องไม่ไปกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่น เช่น กีดขวางการจราจร
4.1.2 แม้ว่าตำรวจจะมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาในการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา แต่หากพื้นที่การชุมนุมเรียกร้องหรือที่จัดงานเป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานอื่นเฉพาะ เช่น ในเรือนจำที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีอำนาจเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2497 มากกว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะนั้นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเจ้าพนักงานตำรวจก็ยังมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเตรียมพื้นที่หรือจัดการจราจรรอบบริเวณที่เกิดเหตุการชุมนุมเรียกร้อง และเตรียมการช่วยเหลือสนับสนุนเจ้าหน้าที่อื่นผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่พิเศษนั้น

4.2 ผู้อนุมัติหรือเห็นชอบการใช้กำลังขั้นสุดท้าย
ให้หน่วยตำรวจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดทำแผนรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องในภาพรวมของจังหวัดโดยเป็นแผนของจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ส่วนในส่วนกลางให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดทำแผน โดยให้ระบุในเรื่องต่อไปนี้
4.2.1 ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นไป เพื่อเป็นองค์กรในการสนับสนุนให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของจังหวัด หรือของส่วนราชการ ตามแผนหรือคำสั่งที่ได้กำหนดไว้ หากไม่มีคณะกรรมการชุดนี้ ควรเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้คณะกรมการจังหวัด ตามนัยมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ เพื่อ
1) กำหนดนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ หรือภารกิจ การแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง ให้ ผู้บัญชาการเหตุการณ์นำไปปฏิบัติในแต่ละเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้อง
2) แก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องในระดับยุทธศาสตร์ เช่นการแก้ไขเงื่อนไขการชุมนุมเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขที่เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานตำรวจ
3) หากยังไม่มีการแต่งตั้ง ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมอบหมายผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ชัดเจน ซึ่งผู้บังคับบัญชาตำรวจอาจไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หน่วยตำรวจก็ยังมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมเรียกร้อง
4)จัดตั้งชุด แถลงข่าวร่วม เพื่อมีหน้าที่แถลงข่าว ติดต่อประสานกับสื่อมวลชน
5) จัดตั้งหรือกำหนด ศูนย์ปฏิบัติการหลัก เพื่อช่วยเหลือสนับสนุน ศูนย์ปฎิบัติการส่วนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ กฎหมาย กำลังพลเพิ่มเติม อุปกรณ์เครื่องมือ หรือการส่งกำลังบำรุง ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน) ร้องขอ
6) ผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ควรต้องปฏิบัติงานเฉพาะใน ศปก.หลัก โดยเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำเนินงานในกรอบระดับ ยุทธศาสตร์ (ระดับทอง) จะไม่ไปควบคุมสั่งการที่ ศปก.สน.ที่อยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุหรือพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติงานของ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ฝ่ายอำนวยการ และผู้บังคับบัญชาหน่วยที่ร่วมปฏิบัติ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินงานในระดับ ยุทธการ(ระดับเงิน) หรือลงไปสั่งการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่การชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่หรือหน้าที่ที่แก้ไขปัญหาเหตุชุมนุมในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นผู้มีหน้าที่ระดับ ผู้ปฏิบัติงาน (ระดับบรอนซ์)

4.2.2 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องดำเนินการให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ชุมนุม เป็นผู้เห็นชอบหรืออนุมัติใช้กำลังขั้นสุดท้าย เช่นผู้ว่าราชการจังหวัด สมุหราชองครักษ์ หรือประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานสำคัญนั้น
แม้ว่าผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่อาจจะเป็นโดยหน้าที่งานประจำ เช่น เวรอำนวยการประจำสถานีตำรวจซึ่งมียศสูงสุดในสถานที่เกิดเหตุนั้น หรือตำรวจที่ได้รับมอบหมายหรือมีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตำรวจที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย สืบสวนสอบสวนจับกุมตามกฎหมาย ในกรณีที่จะต้องใช้กำลังขั้นสุดท้าย หากมีเวลาที่ทำได้ ควรจะต้องขออนุมัติแผนให้ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละพื้นที่ หรือตามกฎหมายเฉพาะแต่ละพื้นที่ หรือหน่วยงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังขั้นสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาฝูงชนได้อนุมัติหรือเห็นชอบก่อนตามหลักของความรับผิดชอบตามหลักกฎหมายปกครอง ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ หรือกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของข้าราชการ หรืออาจจะมีผลกระทบทางด้านการเมือง ก็ควรจะเสนอแผนการใช้กำลังขั้นสุดท้ายให้ผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมืองเห็นชอบก่อน และการสั่งการอนุมัติ เห็นชอบ หรือนโยบายนี้ ต้องมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากการดำเนินการดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์รับผิดชอบจัดทำคำสั่งความเห็นชอบ หรือคำสั่งอนุมัติแผนดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน ให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้

4.3 การวางแผนขั้นต้น
4.3.1 ให้ตำรวจพึงยืดถือหลักการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในการรวมตัวกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เช่น การเดินขบวน การชุมนุมเรียกร้อง การประท้วง การรวมกลุ่มเดินทางหรือกิจกรรมอย่างอื่นในลักษณะเช่นเดียวกันที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิในการรวมตัวกันของประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลทางกฎหมายเพื่อการป้องกันเกี่ยวกับ ความปลอดภัย สุขภาพอนามัย หรือสิทธิเสรีภาพต่าง ๆของบุคคลอื่นเช่น เสรีภาพในการเดินทาง ตำรวจจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านศาสนา กลุ่มการเมือง เชื้อชาติ เพศ ความพิการทางร่างกายหรือเงื่อนไขใด ๆ
4.3.2 ให้ใช้สายตรวจตำบล ตำรวจประจำตู้ยาม และหน่วยย่อยของตำรวจที่ประจำในแต่ละพื้นที่ ใช้ระบบศูนย์ข้อมูลข่าวสารประจำสถานีตำรวจ (ศขส.สน/สภ) เป็นเครื่องมือให้มีระบบการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง ต่อการชุมนุมเรียกร้อง รายงานประชุมความมั่นคงอำเภอทุกเดือน หน่วยตำรวจระดับอำเภอรายงานการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุชุมนุมเรียกร้อง ถ้าไม่มีให้จัดลำดับความเสี่ยง หรือกลุ่มที่น่าเฝ้าระวัง หรือมีเงื่อนไขใดที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ต่อการนำมาเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมเรียกร้อง ตามแนวทางในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒
4.3.3 ให้ใช้ระบบการบัญชาการเหตุการณ์ หรือทำจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องเฉพาะพื้นที่ไว้ตามแนวคิดระบบการบัญชาการเหตุการณ์ โดยต้องมีฝ่ายบังคับบัญชา ฝ่ายอำนวยการ และหลายหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่ความรู้ในด้านต่างๆ มาร่วมวางแผนจัดการแก้ไขเหตุชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน หรือการก่อความไม่สงบโดยประชาชน ให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนได้รวดเร็ว
4.3.4 การตัดสินใจเกี่ยวกับการสลายฝูงชน กลยุทธ์เกี่ยวกับการปิดล้อมที่ชุมนุมหรือการจัดให้ฝูงชนเคลื่อนย้ายไปในทิศทางอื่น การจับกุมแกนนำหรือการจับกุมขนาดใหญ่ หรือการใช้กำลังที่ต้องมีการวางแผนจะต้องดำเนินการในระดับของผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือสูงกว่า หากการตัดสินใจหรือคำสั่งดังกล่าวได้กระทำขึ้นเหนือกว่าระดับผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัจจัยหรือสถานการณ์ของการชุมนุมและผลกระทบหรือความเป็นไปได้หรือการยอมรับได้ของสังคมในการตัดสินใจสั่งการดังกล่าว คำสั่งหรือการตัดสินใจใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวจะต้องบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ลงเวลา ผู้ตัดสินใจหรือสั่งการ และระบุคำสั่งหรือข้อตัดสินใจอย่างชัดเจน เอกสารหรือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวจะต้องจัดทำขึ้นในเวลาที่ตัดสินใจหรือสั่งการเท่าที่ทำได้เร็วที่สุดในการลงบันทึกดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมถึงคำสั่งการหรือการตัดสินใจของผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยในการควบคุมฝูงชนที่กระทำในการป้องกันต่อภยันตรายที่จะเกิดขึ้นหรือกระทำด้วยความจำเป็นโดยทันทีทันใด
4.3.5 ต้องมีการจัดฝ่ายอำนวยการ และศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า(ศปก.สน.) รวมทั้งร้องขอหน่วยงานอื่นที่อาจเกี่ยวกับการแก้ไขเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องตามเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้ข้อมูลและดำเนินกรรมวิธีแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี และร่วมปฏิบัติการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและการยอมรับได้ของสังคมในผลของการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนของตำรวจ
4.3.6 ให้หน่วยตำรวจที่รับผิดชอบแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมเรียกร้องหรือผู้วางแผนในการจัดการชุมนุม หากเป็นการชุมนุมที่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบต้องหาข่าวในเชิงรุกและดำรงการติดต่อประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือแกนนำไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะเป็นการชุมนุมที่ทำตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ตำรวจผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องเริ่มดำเนินการตามแผนในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง หรือการจัดระเบียบฝูงชนที่อาจก่อความไม่สงบขึ้น ตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อได้รับรู้ว่าจะมีการชุมนุม เมื่อการติดต่อประสานงานได้เกิดขึ้น ผู้ประสานงานของตำรวจจะต้องกำหนดตัวของผู้ประสานงานหรือแกนนำที่ผู้ประสานงานจะติดต่อด้วยในการชุมนุมแต่ละครั้ง ผู้ประสานงานฝ่ายผู้ชุมนุมจะได้รับการขอร้องให้ติดต่อประสานงานกับผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยควรจะเป็นผู้ที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้มอบหมายหรือผู้ที่สามารถแจ้งความเคลื่อนไหวให้แก่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ตลอดเวลา หากการติดต่อประสานงานดังกล่าวไม่เป็นผล ต้องเป็นความพยายามของหน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบจะต้องติดต่อประสานงานกับกลุ่มผู้ชุมนุมให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ “การให้ได้ข่าวสารว่าผู้ชุมนุมจะทำอะไร เมื่อไร อย่างไร ได้มากที่สุดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี การปฏิบัติการข่าว และการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ อันจะทำให้การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องได้ผลมากขึ้นเท่านั้น”
4.3.7หากการติดต่อประสานงานระหว่างผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมล้มเหลวกลางคันจะต้องไม่มีการแสดงออกถึงการตอบโต้ในเชิงลบต่อกลุ่มผู้ชุมนุมจากฝ่ายตำรวจ
4.3.8 การติดต่อประสานงานระหว่างผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจและฝ่ายผู้ชุมนุม จะดำเนินการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งแม้ว่าจะมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายหรือใช้กำลังต่อกลุ่มผู้ชุมนุมก็ตาม
4.3.9 การชุมนุมเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด โดยหน่วยตำรวจไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน เมื่อหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบรู้ถึงการชุมนุมเรียกร้องเมื่อใดให้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับนโยบายและการจัดการในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทันที ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องใช้ข้อมูลจากผู้แทนของกลุ่มผู้ชุมนุมใช้ในการวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่รู้ล่วงหน้าและที่ไม่รู้ล่วงหน้า
4.3.10 ตำรวจจะต้องรักษาวินัยและแสดงออกถึงความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลางทั้งคำพูดและการปฏิบัติแม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายหรือต่อต้านสังคม พฤติกรรมการแสดงออกถึงความไม่มีวินัยและไม่ใช่มืออาชีพจะเป็นการจุดชนวนทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดนำไปสู่การควบคุมเหตุการณ์ได้ยากหรืออาจเป็นอันตรายเพิ่มมากขึ้น การกำกับดูแลและควบคุมสั่งการอย่างใกล้ชิดมีความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจร่วมของตำรวจหลายหน่วย หรือการปฏิบัติในยุทธวิธีต่างๆของตำรวจ การทำงานเป็นหมู่คณะและการใช้ภาวะผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมและทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ตำรวจที่ปฏิบัติงาน การกระทำของตำรวจแบบใช้อารมณ์หรือการกระทำโดยพลการของตำรวจแต่ละคนเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
4.3.11 จะต้องจัดให้มีตำรวจไปสังเกตการณ์ ณ จุดสูงข่ม หรือจุดที่สามารถสังเกตการณ์เพื่อรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทุกขณะ
4.3.12 ที่ตั้ง ศปก. สน. และเส้นแนวเขตการเจรจาขั้นสุดท้าย หรือแนวที่จะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่านไปเพื่อการป้องกันเหตุร้าย หรือป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปนั้น จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมประท้วงที่มีการต่อต้าน หากเป็นไปได้ต้องมีการแยกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงหรือยั่วยุออกมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ “การจัดต้อง ศปก.สน. ได้เร็วและทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น จะทำให้ภารกิจการควบคุมฝูงชนสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”
4.3.13 การสืบสวนหาข่าวเพื่อให้ทราบว่าการชุมนุมมาจากกลุ่มใด เรียกร้องเรื่องใดเป็นปัจจัยที่สำคัญสุดที่จะกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องของตำรวจได้ตรงกับลักษณะของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการแปรเปลี่ยนตั้งแต่การให้ความร่วมมือกับตำรวจ การไม่ให้ความร่วมมือจนถึงการด่าทอหรือทำร้ายตำรวจ การชุมนุมเรียกร้องที่มีการจัดตั้งกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรงจะต้องมีการแยกแยะ และการปฏิบัติของตำรวจที่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่ทำผิดกฎหมายกับผู้ที่ไม่ทำผิดกฎหมายระหว่างการชุมนุม

5. ความสัมพันธ์ทางการบังคับบัญชา
5.1 เมื่อมีภารกิจในการจัดการเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน หรือการรักษาความสงบหรือความปลอดภัยในการจัดงานสำคัญ โดยหลักการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะสั่งการให้หน่วยในสังกัดจัดกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ไป “ขึ้นควบคุมการปฏิบัติ” ตามนัยมาตรา ๑๕ วรรคท้ายแห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ไม่ว่าหน่วยนั้นจะเป็นหน่วยกำลังตำรวจทั่วไปหรือหน่วยสนับสนุนทางเทคนิค
5.2 เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ หน่วยงานตำรวจที่รับผิดชอบหรือเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง หรือผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้รับการสนับสนุนกำลังพลจากหน่วยงานอื่น มาร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่ากำลังพลดังกล่าวจะเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือในขณะที่ยังไม่ได้ใช้กฎหมายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ดังนั้น การมอบหมายภารกิจ ควรต้องมอบให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจ ในการปฏิบัติภารกิจตามคุณลักษณะของหน่วย ภายใต้การควบคุมการสั่งการของผู้บังคับบัญชาตำรวจ ไม่ควรมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานให้มีลักษณะการมอบความรับผิดชอบโดยการแบ่งพื้นที่เด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดปัญหาด้านกฎหมายได้
5.3.ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ควรต้องได้รับมอบกำลังพลที่มาร่วมปฏิบัติงานในลักษณะ “ขึ้นควบคุมการปฏิบัติหรือขึ้นควบคุมทางยุทธการ” ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานตำรวจหรือข้าราชการอื่น หรืออาสาสมัครก็ตาม เพื่อให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา สั่งการใช้หน่วยที่มาร่วมปฎิบัติได้ทุกหน่วย ในการปฏิบัติภารกิจ โดยไม่ต้องกังวลกับการ ส่งกำลังบำรุง การธุรการและกำลังพล การรักษาวินัย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ หน่วยที่มาร่วมปฏิบัติ และ ศปก.หลัก ที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการ

6.แนวทางการใช้หน่วยทางยุทธวิธี
6.1.ผู้ที่ร่วมปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องและการควบคุมฝูงชนทั้งหมด ควรต้องเข้าใจและทำตามกรอบบทบาทและหน้าที่แต่ละระดับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน การก้าวก่ายหน้าที่ของแต่ละระดับ โดยแบ่งออกดังนี้
6.1.1 ระดับยุทธศาสตร์ (ระดับทอง) คือผู้บัญชาการเหตุการณ์ ขึ้นไป ซึ่งรวมถึง ฝ่ายอำนวยการเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ใน ศปก.หลัก ผู้บังคับบัญชาทั้งในระดับหัวหน้าหน่วยงานในจังหวัด และส่วนกลาง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด
สมุห์ราชองครักษ์ รองสมุห์ราชองครักษ์ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงกว่าผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาฝ่ายการเมืองเช่น รัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี โดยผู้มีหน้าที่ในระดับนี้ควรต้องมอบนโยบายหรือสั่งการหรือแก้ไขปัญหาในระดับยุทธศาสตร์
6.1.2 ระดับยุทธการ (ระดับเงิน) คือ ผุ้บัญชาการเหตุการณ์ ลงไป (ผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นผู้ที่อยู่ในระดับยุทธศาสตร์ และยุทธการ แต่ไม่ใช่ระดับผู้ปฏิบัติงาน) หัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาฝ่ายปฏิบัติหัวหน้าหน่วยงานที่มาร่วมปฏิบัติหรือผู้แทนหน่วยที่มาร่วมปฏิบัติ ฝ่ายอำนวยการ และเจ้าหน้าที่ประจำ ศปก.สน.ทุกคน ซึ่งไม่มีหน้าที่ไปควบคุมสั่งการในพื้นที่ปฏิบัติการโดยตรง (ต้องเสนอแนะหรือสั่งผ่าน ผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยที่ปฏิบัติการในพื้นที่ หรือตามหน้าที่พิเศษ) แต่มีหน้าที่นำคำสั่งการหรือยุทธศาสตร์หรือนโยบายของระดับยุทธศาสตร์ มาแสวงข้อตกลงใจ วางแผนให้สำเร็จภารกิจ
6.1.3 ระดับผู้ปฏิบัติงาน (ระดับบรอนซ์) คือ หัวหน้าหน่วยหรือผู้บังคับบัญชา หน่วยที่ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติแก้ปัญหาเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือควบคุมฝูงชนในระดับพื้นที่ หรือหน้าที่พิเศษทั้งหมด (หัวหน้าหน่วยหรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้แทนหน่วย หน่วยปฏิบัติที่มาร่วมปฎิบัติงานโดยตรง จะเป็นทั้งระดับยุทธการและระดับผู้ปฏิบัติงานด้วย) มีหน้าที่บทบาทในการนำแผนของระดับยุทธการมาปรับใช้ตามยุทธวิธีที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ โดยใช้ระบบหลักการระเบียบการ นำหน่วยเป็นกรอบในการเตรียมกำลัง อุปกรณ์ วางแผนการปฏิบัติของหน่วยกำลัง การตรวจพื้นที่ และการฝึกซ้อม
6.2 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ จะต้องคำนึงถึงขีดจำกัด ขีดความสามารถและใช้หน่วยงานในการแก้ไขปัญหา ตามคุณลักษณะของหน่วย เช่น กองร้องควบคุมฝูงชนของ ตำรวจนครบาล ซึ่งมีภารกิจ หน้าที่และอุปกรณ์ประจำการในการควบคุมฝูงชนมากกว่าหน่วยอื่น และได้รับการฝึกการควบคุมฝูงชนมาโดยตรง ควรต้องออมกำลังไว้ เพื่อใช้ในการสลายฝูงชน ด้วยอุปกรณ์พิเศษต่าง ๆ เช่นแก๊สน้ำตา หรือใช้รูปขบวนในการสลายฝูงชน ซึ่งการใช้หน่วยตำรวจที่เป็นหน่วยตำรวจในพื้นที่ ที่รู้จักคุ้นเคยกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือที่มีการปะทะด่าทอกับกลุ่มผู้ชุมนุมมาก่อน หรือปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบด้วยการยืนยามมาก่อนเป็นเวลานาน ไม่ควรใช้หน่วยเหล่านี้ ในการใช้กำลังขั้นสุดท้ายเช่นการสลายฝูงชน หรือจับกุมผู้ชุมนุม หากไม่จำเป็น

7. การรักษาความสงบการชุมนุมเรียกร้อง
7.1 ต้องเตรียมกำลังให้พร้อมที่จะจับกุมแกนนำและจับกุมขนาดใหญ่ เมื่อมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ให้พร้อมที่จะจับกุม แต่ต้องเตรียมกำลังให้พ้นจากสายตาของกลุ่มผู้ชุมนุม และการแสดงกำลังนี้จะต้องไม่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้ชุมนุมที่ยังไม่มีการทำผิดกฎหมาย
7.2 โดยทั่วไป การรักษาความสงบในการชุมนุมเรียกร้อง ตำรวจต้องทำงานเป็นหมู่ ขึ้นไป จะไม่แยกปฏิบัติเป็นรายบุคคล
7.3 ตำรวจผู้ปฏิบัติงานจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือควบคุมฝูงชนต้องติดเครื่องหมายยศ สังกัด ป้ายชื่อ ให้มีความสูงของตัวอักษรอย่างน้อย ๒ นิ้ว บนด้านนอกของเครื่องแบบหรือบนหมวก ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบ ถึงชื่อ และสังกัดได้ ได้ชัดเจนในระยะพอสมควร
7.4 การใช้กำลังเข้าควบคุมฝูงชนหรือการสลายฝูงชน ถ้าเป็นไปได้ ต้องใช้หน่วยที่ได้รับการฝึกมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยตรง ไม่ควรใช้กำลังตำรวจสายตรวจที่สนธิกำลังมาเพื่อการสลายฝูงชน
7.5 ไม่ว่าการรวมตัวของฝูงชน จะถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ตำรวจจะต้องอำนวยความสะดวกการจราจร และจัดการไม่ให้ฝูงชนกีดขวางการจราจร ในการชุมนุมเรียกร้องที่ไม่ได้มีการเตรียมการมาก่อน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องตัดสินใจโดยดูจำนวนผู้มาชุมนุมว่าจะให้เดินหรืออยู่บนทางเท้า หรือจะให้ใช้ถนนช่องทางใดช่องทางหนึ่ง โดยพิจารณาปัจจัยความสมดุลระหว่างสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในที่สาธารณะ กับการกีดขวางการจราจรและการกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและส่วนรวมในการเดินทาง ตำรวจต้องติดต่อกับผู้ประสานหรือแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการเจรจา การจัดการจราจรมีความจำเป็นทั้งการรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม และช่วยในการควบคุมพื้นที่ชุมนุม การจำกัดผลกระทบการชุมนุมและการสลายการชุมนุม
7.6 ตำรวจพึงระลึกไว้ว่าผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดเหมือนกันทั้งหมด แม้ว่าจะมีผู้ชุมนุมบางคนใช้ความรุนแรงหรือทำลายทรัพย์สิน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงด้วยอาจถูกกักหรือกั้นไว้ไม่ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม ดังนั้นตำรวจจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยง ในการจับกุมหรือใช้กำลังกับผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือมีส่วนก่อเหตุรุนแรงในระหว่างการชุมนุม
7.8 ตำรวจต้องหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือใช้คำพูดด่าทอกับกลุ่มผู้ชุมนุม การด่าทอของกลุ่มผู้ชุมนุม หรือใช้คำพูดหยาบคายด่าว่าตำรวจ ไม่เป็นเหตุเพียงพอให้จับกุมผู้ชุมนุมแต่ละบุคคล
7.9 ตำรวจจะต้องไม่แสดงอาวุธหรือกำลังว่าจะเข้าใช้กำลังในเหตุการณ์ชุมนุมที่ไม่ผิดกฎหมาย จะแสดงได้เมื่อมีการแจ้งเตือนว่าจะมีการสลายการชุมนุม หรือมีการแจ้งผู้ชุมนุมว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ก่อเหตุวุ่นวาย ให้เลิกการชุมนุมตามที่กฎหมายกำหนด
7.10 หน่วยตำรวจจะต้องไม่ส่งตำรวจเข้าไปเจรจาหรือพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีลักษณะใช้ความรุนแรง
ตำรวจจะไม่ฝ่าฝูงชนเข้าไปจับกุมผู้ชุมนุมเป็นรายตัว ในพื้นที่การชุมนุมเว้นแต่ ผู้ชุมนุมที่ก่อนเหตุรุนแรงดังกล่าวได้กระทำผิดอย่างรุนแรงและคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งของผู้บัญชาการเหตุการณ์
7.11. ผู้บัญชาการเหตุการณ์และผู้บังคับบัญชาจะต้องใช้ความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าภารกิจที่ได้รับมอบประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและมีความละมุนละม่อม ตามหลักการสากล โดยคำนึงสูงสุดถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพส่วนบุคคล และพยายามใช้กำลังหรืออำนาจแต่น้อยสุดถ้าทำได้ การใช้กำลังต้องเป็นไปตามกฎการใช้กำลังและสิ่งแวดล้อมหรือระดับของความจำเป็นของสถานการณ์ความรุนแรง ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เผชิญอยู่ ทั้งนี้มิได้หมายถึงการตัดสิทธิการใช้กำลังป้องกันตนเอง และการกระทำอันจำเป็นเพื่อที่จะป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่กลุ่มผู้ชุมนุม ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่หรือตัวตำรวจเอง

8.การเผชิญเหตุการชุมนุมของประชาชน
8.1 เหตุชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน
8.1.1 ร้อยเวรป้องกันปราบปรามจะต้องไปยังที่เกิดเหตุที่มีการชุมนุมเรียกร้องโดยเร็วที่สุด และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์จนกว่าจะมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่ามาทำหน้าที่แทน ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมสั่งการ หรือศูนย์วิทยุว่าได้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ และจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า (ศปก.สน.)ใกล้สถานที่ชุมนุม
8.1.2 ประเมินสถานการณ์ที่จำเป็นที่ตำรวจต้องเข้าจัดการเหตุการณ์เบื้องต้น ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องรายงานเรื่องดังต่อไปนี้ให้เร็วที่สุด
1) สถานที่และประเภทของกลุ่มผู้ชุมนุม ข้อเรียกร้อง
2) ผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงหรือมีการทำผิดกฎหมายหรือไม่
3) ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องประเมินว่าการชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่คือการรวมตัวกันโดยความสงบ ปราศจากอาวุธ และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ในลักษณะของการกระทำอย่างใดของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นการพูดปราศรัย การยืนประท้วง การนอนหรือนั่งขวางทางเข้าออก การเดินขบวน หรือการแจกใบปลิวเป็นต้น การกระทำหรือพฤติกรรมที่เกี่ยวกับการบุกรุก การทำลายทรัพย์สิน การขัดขวางการขนส่ง การใช้เครื่องขยายเสียงโดยผิดกฎหมาย การทำร้ายหรือก่อนกวนความสงบเรียบร้อยของผู้อื่น การมีอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ เพื่อใช้ทำร้าย ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
4) กลุ่มผู้ชุมนุมที่กระผิดกฎหมายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่
5) จะมีการขยายพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือหรือไม่
6) อันตรายหรือความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป ชุมชน และตำรวจจากการชุมนุมเช่น เส้นทางจราจรที่ควรหลีกเลี่ยง
7) มีการใช้รถยนต์ร่วมในการชุมนุมหรือไม่
8) ขนาดของพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม
9) จำนวนตำรวจที่ต้องการในการควบคุมหรือจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องรวมทั้งหน่วยพิเศษเช่นจราจร หน่วยอาวุธพิเศษ เป็นต้น
10) ลักษณะของการเข้าที่เกิดเหตุของหน่วยที่จะมาสนับสนุน
11) จุดรวมพลและเส้นทางเข้าออก
12) จุดแถลงข่าว
13) หน่วยงานอื่นที่จะช่วยในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นรถพยาบาล รถดับเพลิง รถสุขาเคลื่อนที่

8.2 เหตุการณ์ชุมนุมที่สืบสวนหรือรู้ล่วงหน้า หรือมีกำหนดจะจัดชุมนุมไว้ก่อน
8.2.1 เมื่อได้รับข่าวว่าจะมีการชุมนุม หรือจะมีการจัดงานสำคัญเช่นการประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียน และมีข่าวว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมนุมเรียกร้อง หน่วยตำรวจจะต้องมอบหมายให้ข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง การแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี และดำเนินการร่างคำสั่งหรือแผนปฏิบัติการณ์ ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องรับผิดชอบในการวางแผนและประสานงานกับหน่วยทั้งหมดที่มาร่วม ซึ่งรวมถึงการควบคุมและจัดการฝูงชน
8.2.2 ปัจจัยอย่างน้อยต่อไปนี้จะต้องนำมาพิจารณาและกำหนดไว้ในแผนรักษาความปลอดภัย
1 ) แบบของเหตุการณ์ หรือการรวมตัวกันที่จะเกิดขึ้น เช่นการชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมสังสรรค์ที่มีเป้าหมายทางการเมือง หรือการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรผู้เดือนร้อนเป็นต้น
2) สืบสวนค้นหาผู้จัดการชุมนุม แกนนำ พฤติกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มผู้ชุมนุม (สงบ รุนแรง หรือให้ความร่วมมือกับตำรวจ)
3) จะมีกลุ่มต่อต้านหรือผู้ที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นหรือใช้สิ่งของขว้างทำร้ายผู้ชุมนุมได้หรือไม่
4) เหตุการณ์ชุมนุมหรือเหตุการณ์รวมตัวกันมีการแจกจ่ายสุรา หรือสิ่งมึนเมาหรือไม่
5) สถานที่จัดการชุมนุม ขนาด ที่ตั้ง ทางเข้าและออก
6) สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์ส่วนหน้า (ศปก.สน.) และจุดรวมพล
7) การชุมนุมที่ต้องใช้เครื่องขยายเสียงหรือการเดินพาเหรดได้รับอนุญาต ถูกต้องหรือไม่
8) หน่วยงานอื่นได้รับแจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนหรือไม่และควรต้องนำมาร่วมในการวางแผนก่อนหรือไม่ (หน่วยดับเพลิง รถพยาบาล เทศบาล จังหวัด หน่วยข่าว)
9) จะต้องมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการณ์หลัก (ศปก.หลัก) ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนด้านการข่าว กำลังพล การส่งกำลังบำรุง และการประชาสัมพันธ์หรือไม่
10) จะต้องมีการระดมพลจากหน่วยอื่นหรือไม่ มีการเตรียมกองหนุนเมื่อมีข่าวว่าจะมีการชุมนุมเพิ่มเติม หรือมีเหตุร้ายเพิ่มมากขึ้นจากการชุมนุม มีขั้นตอนระดมพลอย่างไร
11) ควรต้องประชุมร่วมกับเจ้าภาพในการจัดงานหรือแกนนำผู้จะจัดการชุมนุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ได้มากที่สุด ข่าวสารใดที่อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการปฏิบัติงานของตำรวจก็ควรจะรักษาเป็นความลับ “ การข่าวมีความแม่นยำ เที่ยงตรงว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเท่าใด มาทำอะไร ที่ใด อย่างไร ได้มากเท่าใด ย่อมทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการเหตุมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น”
12) จำนวนกำลังพลและอุปกรณ์เพียงพอต่อการรับมือเหตุชุมนุมหรือไม่ ได้ขออนุมัติหลักการเพิ่มเติมกำลังจากหน่วยอื่นอย่างไร หน่วยงานใดจะรับผิดชอบในการส่งกำลังบำรุง ให้แก่หน่วยที่มาขึ้นควบคุมการปฏิบัติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะสนับสนุนงบประมาณได้เท่าใด เมื่อใด
13) มีการขออนุมัติ “กฎการใช้กำลัง ” ต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด (ในกรณีต่างจังหวัด) โดยอย่างน้อยต้องระบุอำนาจการอนุมัติการใช้กำลังขั้นสุดท้ายต่อกลุ่มผู้ชุมนุม โดยอาจใช้คณะผู้ทำงานระดับยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด (คณะกรมการจังหวัดตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534) หรือตามแผนของจังหวัดที่กำหนดไว้ และอาจมีการขออนุมัติใช้ “ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ” ตามการข่าวที่ได้รับไว้เช่นเดียวกับกฎการใช้กำลัง

9. บทบาทหน้าที่การวางแผนของหน่วยงานตำรวจระดับจังหวัดหรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล
9.1 รวบรวมและประเมินค่า รวมทั้งกระจายข่าวสารการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดการชุมนุมเรียกร้องในแต่ละเขตอำเภอของจังหวัดในรอบ 1 เดือน ทั้งจากหน่วยงานตำรวจ หน่วยงานอื่น หน่วยข่าวและสื่อมวลชล รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยเหนือและสถานีตำรวจได้รับทราบ สืบสวน เฝ้าระวัง ระงานสิ่งบอกเหตุการณ์จัดชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้เตรียมการจัดการเหตุได้ทันเวลา และเมื่อมีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีการชุมนุมเรียกร้องให้รายงานเหตุที่น่าสนใจตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 18 บทที่ 1 ให้แก่หน่วยเหนือและหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบ สถานที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางไปชุมนุม และมอบหมายให้จัดตำรวจประสานงาน รวมทั้งประสานอำนวยความสะดวกการเดินทางของกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างทาง
9.2 ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือเงื่อนไขของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อร่วมวางแผนจัดการเหตุหรือการจัดงานที่อาจจะมี หรือดึงดูดกลุ่มผู้ประท้วง เช่นการประชุมเกี่ยวกับองค์การการค้าโลก
9.3 ร่วมประชุมกับผู้ให้การสนับสนุนหรือกลุ่มแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวหรือชุมนุมเรียกร้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและตกลงหลักความปลอดภัย หรือการแก้ไขปัญหาร่วมกันตั้งแต่ต้น หากกรณีมีแผนของจังหวัด หรือข้อเรียกร้องมีกฎหมายหรือระเบียบให้ยึดถือปฏิบัติชัดเจน ควรยกเป็นประเด็นให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงานเป็นหลัก เช่น พรบ.แรงงานสัมพันธ์
9.4 ประสานงานกับหน่วยงานตำรวจที่ให้การสนับสนุนเช่นหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กองตำรวจสื่อสาร กองบินตำรวจ เพื่อวางแผน
9.5 จัดทำแผนหรือคำสั่งปฏิบัติการ
9.6 ประสานงานเพื่อตรวจสถานที่ที่คาดว่าจะมีการชุมนุม หรือบริเวณแนวเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อจัดสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คาดว่าจะมี
9.7 ตรวจความพร้อมของสิ่งอุปกรณ์ในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ควบคุมฝูงชน
9.8 มอบหมายซักซ้อมชุดถ่ายภาพและชุดรวบรวมพยานหลักฐานจากกลุ่มผู้ชุมนุม

10. แผนเผชิญเหตุ
10.1 ให้ ศปก.สน.จัดทำแผนเผชิญเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามกฎการใช้กำลังและ “ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ” เช่นแผนการจับกุมแกนนำ แผนการจับกุมขนาดใหญ่ แผนการเจรจา ณ จุดเจรจาขั้นสุดท้าย แผนการใช้อาวุธพิเศษ เช่น แก๊สน้ำตา แผนการใช้รูปขบวนในการสลายการชุมนุม แผนการรวบรวมพยานหลักฐานและขอหมายจับ แผนการควบคุมและสอบสวน
10.2 นำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี ประกอบกับแผนเผชิญเหตุที่ทำไว้มาทำการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับเวลาและแนวทางของการข่าวที่คาดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อเหตุในลักษณะใด โดยอาจจะมีการก่อเหตุในลักษณะการก่อความไม่สงบเพิ่มเติมจากการชุมนุมในพื้นที่ชุมนุมเท่านั้น
10.3 ตำรวจควรจะเตรียมการเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการชุมนุมเรียกร้องแบบที่รุนแรงสุดหรือกลายเป็นการก่อความไม่สงบ จนถึงการจัดการในกรณีมีการชุมนุมที่ไม่ผิดกฎหมาย หัวข้อการฝึกอย่างน้อยต้องมีการฝึกเกี่ยวกับชุดเคลื่อนที่เร็ว การจัดการรักษาความปลอดภัย การเดินขบวนแบบดาวกระจาย การใช้แก๊สน้ำตา และอาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ความผิดและข้อหารวมถึงเทคนิคการรวบรวมพยานหลักฐาน การบันทึกคำปราศรัยเป็นต้น
10.4 การใช้กำลังตามแผนเผชิญเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นควรจะต้องประชุมชี้แจงเกี่ยวกับหลักของกฎหมาย ความเป็นห่วงกังวลของสังคม หรือการยอมรับได้ของสังคมในการปฏิบัติ กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลัง
ต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ สายการบังคับบัญชา การจัดการจราจร

11. อาวุธและระดับกำลังที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้อง
11.1 อาวุธเพื่อสังหาร เช่นอาวุธปืนพก อาวุธปืนยาว โดยทั่วไปไม่อนุญาตให้ตำรวจแสดงอาวุธที่ใช้เพื่อการสังหารในการควบคุมฝูงชน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการใช้อาวุธดังกล่าวเพื่อการป้องกันภยันตรายต่อตัวตำรวจเองและผู้อื่นตามหลวักพอสมควรแก่เหตุ และหลักสิทธิมนุษยชนหรือที่ได้กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลัง
11.2 สุนัขตำรวจ จะไม่อนุญาตให้นำมาใช้ในการควบคุมฝูงชน การตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อควบคุมพื้นที่การชุมนุม หรือการสลายฝูงชนแต่อาจนำมาใช้เพื่อการป้องกันสถานที่หรือบุคคลสำคัญ หรือการตรวจค้นวัตถุระเบิดตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการ
11.3 ม้าตำรวจ จะนำมาใช้ในการควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์สำคัญได้ตามที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์สั่งการ แต่จะไม่นำมาใช้ในการสลายฝูงชนที่ไม่ใช้ความรุนแรง รวมทั้งไม่ใช้กับฝูงชนที่นั่งหรือนอน
11.4 รถจักรยานยนต์ จะถูกนำมาใช้ในการสืบสวนหาข่าวสังเกตการณ์ การควบคุมการจราจร การควบคุมพื้นที่การชุมนุม แต่จะไม่ใช้ในการสลายการชุมนุม
11.5 อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
11.5.1 ให้ใช้อาวุธตามกฎการใช้กำลัง
11.5.2 จะไม่ยิงไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุม หรือตั้งใจให้ถูกที่หัว คอ หน้า กระดูกสันหลังตรงบริเวณตับ อวัยวะเพศ เว้นแต่เพื่อการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ
11.5.3 ผู้ได้รับการฝึกตามหลักสูตรมาตรฐานเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ใช้อาวุธพิเศษแต่ละชนิดได้
11.5.4 เมื่อจะใช้อุปกรณ์ทางเคมีหรืออาวุธพิเศษแต่ละชนิด จะต้องมีการเตรียมรถพยาบาลเพื่อคอยช่วยเหลือผู้บาดเจ็บไว้ในที่เกิดเหตุ

12. เทคนิคการควบคุมฝูงชนและการสลายฝูงชนที่อนุญาตให้ใช้ได้
12.1ให้มีการประกาศแจ้งเตือน ว่าการชุมนุมดังกล่าวผิดกฎหมาย ให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญาที่ 216 ที่บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุ่มเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 115 ที่มั้วสุ่มกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็นว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิกต้องระวางโทษจำคุก ฯ
12.2 ให้มีการแจ้งเตือนถึงกำหนดเวลาและเส้นทางการออกจากที่ชุมนุม
12.3 นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะใช้วิธีการจับกุมแกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมออกจากที่ชุมนุมตามคำสั่งเตือนดังกล่าวมากกว่าที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุม
12.4 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะใช้กระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายและการยอมรับของสังคมในการตกลงใจเลือกวิธีการปฏิบัติในการแก้ไขควบคุมฝูงชน โดยคำนึงถึงปัจจัย
12.4.1 ภารกิจหรือข้อกำหนด หรือนโยบายที่หน่วยเหนือหรือผู้มีอำนาจอนุมัติใช้กำลังขั้นสุดท้ายสั่งการหรืออนุมัติให้ดำเนินการได้
12.4.2 ขนาดของฝูงชนและอาวุธหรือความรุนแรงรวมทั้งผลกระทบของการแก้ไขปัญหา
4.3 กำลังและอุปกรณ์ของตำรวจที่มีอยู่
12.4.4 เวลาที่เป็นเส้นตายหรือที่มีอยู่
12.4.5 สภาพความเกื้อกูลของสถานที่หรือพื้นที่ที่ชุมนุมรวมทั้งกระแสความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่
12.4.6 การยอมรับได้ของสังคมหรือความชอบธรรมทางกฎหมาย
12.4.7 การปฏิบัติจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่
12.4.8 หากมีการจับกุมเฉพาะแกนนำจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากกว่าการสลายฝูงชนหรือไม่
12.4.9 มีเส้นทางที่จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากที่ชุมนุมได้ปลอดภัยหรือไม่
12.4.10 ต้องมีการแจ้งเตือนหรือเจรจาตกลงกับแกนนำผู้ชุมนุมให้เข้าใจถึงการใช้ยุทธวิธีการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องมีการประกาศเป็นภาษาไทยหรือภาษาที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เข้าใจ คำสั่งแจ้งเตือนหรือการตกลงกับแกนนำนี้ ควรต้องกระทำเมื่อหน่วยตำรวจที่จะแก้ไขปัญหาฝูงชนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ได้ประกาศ
12.4.11 ต้องมีการเตรียมแผนเผชิญเหตุในกรณีที่สถานการณ์แปลเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น
12.5 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องประเมินโดยใช้ระบบการแสวงข้อตกลงใจยุทธวิธีที่สถานการณ์หรือการปฏิบัติของกลุ่มผู้ชุมนุมเปลี่ยนไป
12.6 ผู้บัญชาการเหตุการณ์จะต้องพิจารณาและรับผิดชอบถึงขั้นตอนที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ผ่านไปมาไม่ให้ได้รับอันตรายจากผู้ชุมนุม
12.7 เมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือผักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องแน่ใจว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะไม่ถูกผลักดันไปในพื้นที่อันตรายต่อผู้ชุมนุมเองหรือผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว เช่น ไม่ผลักดันได้กลุ่มผู้ชุมนุมไปจนมุ่ม หรืออยู่ในซอก หรือซอย กระจากแคบ
12.8 การไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องกระจายเสียงและเดินพาเหรด ในทางสาธารณตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
12.9 ถ้าการเจรจาหรือการประกาศให้ฝูงชนเลิกมั่วสุมชุมนุมตามประมวลกฎหมายอาญา 216 ไม่เป็นผล และเมื่อ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตกลงใจที่จะใช้เทคนิคในการสลายฝูงชน ตามระบบการแสวงข้อตกลงใจทางยุทธวิธี จะต้องใช้เทคนิคจากเบาไม่หาหนักถ้าใช้ได้ โดยอาจจะใช้เทคนิคใจเทคนิคหนึ่ง โดยมิต้องใช้ตามลำดับตามความรุนแรงของสถานการณ์หรือความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและตำรวจดังนี้
12.9.1 การแสดงกำลังของตำรวจรวมถึงการใช้อุปกรณ์รถยนต์และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว
12.9.2 ทำการปิดล้อมสถานที่ชุมนุมและจับกุมแกนนำพร้อมกันหรือจับกุมขนาดใหญ่ (จำนวนผู้ถูกจับกุมเกินกว่า 30 คนขึ้นไป)
12.9.3 รูปขบวนควบคุมฝูงชนเคลื่อนที่ กดดันฝูงชนในเคลื่อนที่ออกจากที่ชุมนุมโดยใช้โล่ และกระบอง
12.9.4 การใช้แก๊สน้ำตา หรืออุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
12.9.5 อุปกรณ์เสียงและแสงที่ทำให้ตกใจ ซึ่งอาจจะรวมถึงอุปกรณ์ที่มีแก็สน้ำตา
12.9.6 การใช้รถฉีดน้ำไล่ให้สลายจากพื้นที่การชุมนุม

13. การจับกุมและการสอบสวน
13.1 การจับกุมขนาดใหญ่
13.1.1 เมื่อต้องมีการจับกุมผู้ชุมนุมหรือแกนนำพร้อมกันหลายคน ต้องมีการวางแผน จัดกำลังตำรวจเป็นทีมจับกุมขนาดใหญ่ จัดให้มีการฝึกซ้อมการจับกุมขนาดใหญ่
13.1.2 เมื่อมีความจำเป็นต้องทำการจับกุม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องแน่ใจว่ามีกำลังตำรวจเพียงพอในการจับกุมและคุ้มกัน โดยควรต้องทำการประกาศเตือนหรือผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้ออกไปจากพื้นที่ชุมนุมก่อน แล้วจึงจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่เหลือที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่ชุมนุม
13.1.3 เมื่อต้องทำการจับกุมขนาดใหญ่ ผู้ต้องถูกจับกุมเกินกว่า 30 คนขึ้นไป จะต้องมีวางแผน ซักซ้อม เกี่ยวกับการขนส่งผู้ถูกจับกุมตามแบบฝึก ไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ถูกจับกุม ผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาล และต้องให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิและได้รับแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุมอย่างครบถ้วนตามกฎหมายตามมาตรฐานสากล เช่นการได้รับการเยี่ยมตามสมควร การแจ้งการถูกจับกุม การพบทนายความสองต่อสอง มีการแยกสถานที่ควบคุม ชาย หญิง เป็นต้น
13.1.4 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต้องเลือกที่จะตัดสินใจ ในความจำเป็นในการจับกุมเป็นรายบุคคล หรือจับกุมพร้อมกันหลายคนหรือจับกุมขนาดใหญ่ ในฐานะเทคนิคการควบคุมฝูงชน โดยพิจารณาว่า
1)การจับกุมจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือการไม่จับกุมจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่า
2)ความรุนแรงการทำผิดกฎหมาย ถ้าไม่จับกุมแล้วจะทำให้มีความผิดเกิดมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การชุมนุมเลวร้ายขึ้นหรือไม่
3)การจับกุมเป็นรายบุคคลหรือการจับกุมขนาดใหญ่ จะทำให้การชุมนุมเลิกได้เร็วขึ้นหรือไม่
4) มีการจัดเส้นทางให้ผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายออกจากที่เกิดเหตุหรือไม่ และมีเส้นทางให้ตำรวจนำผู้ถูกจับออกจากพื้นที่ชุมนุมหรือไม่
5) มีการเจรจากับแกนนำหรือผู้แทนกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนหรือไม่
6) มีแผนเผชิญเหตุ หากเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นจากการจับกุม เตรียมไว้หรือไม่
7) กำลังชุดจับกุมขนาดใหญ่ จะจัดจากชุดใด หน่วยใด
13.1.5 ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องมีการกำหนดให้มีการจัดเก็บพยานหลักฐานของแต่ละบุคคลที่จะจับกุมเป็นรายบุคคล

13.2 การก่อการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานหรือก่อความไม่สงบโดยผู้ชุมนุม
13.2.1 กลุ่มผู้ชุมนุมอาจก่อการขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ หรือก่อความไม่สงบ เช่น นั่งหรือนอนปิดถนน ปิดทางเข้าออกสำนักงาน หรือสถานที่ราชการสำคัญ การปฏิบัติที่ดีที่สุดของตำรวจคือการแจ้งเตือนว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดกฎหมาย ถ้ายังขัดขืนจะถูกจับกุมดำเนินคดี ให้ตำรวจกำหนดเวลาให้กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม หากมีบางกลุ่มยังคงปฏิบัติการที่ผิดกฎหมายต่อไป ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จึงพิจารณาถึงการจับกุม การจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขัดขืนควรใช้การพูดเจรจามากกว่าการใช้กำลังตำรวจเข้าปะทะหรือบังคับ
13.2.2 ผู้ชุมนุมที่ขัดขืนการจับกุมด้วยการนั่งเฉยขัดขืนการจับกุมของตำรวจแบบนิ่งเฉย ควรต้องจับกุมแล้วใช้เครื่องพันธนาการ แล้วจึงใช้คำพูดบังคับสั่ง หรือยกตัวผู้ถูกจับขึ้น หรือการจับกดจุดให้เดินไปตามคำสั่งของตำรวจผู้จับกุม
13.2.3 หากมีกลุ่มผุ้ชุมนุมที่ล็อคแขนติดกับเสาหรือรั้วหรือล็อคแขนขา ผู้ชุมนุมดังกล่าว จะได้รับแจ้งเตือนว่าจะถูกจับกุมก่อนถ้ายังคงกระทำการดังกล่าวต่อไป เพื่อให้ผู้ถูกแจ้งเลิกการปฏิบัติดังกล่าว ตำรวจจึงจะเข้าไปจับกุมหรือปลดล็อคดังกล่าว หากผู้ชุมนุมไม่เลิกปฏิบัติดังกล่าว

14. การดำเนินคดี
14.1 ถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายในการชุมนุม หรือมีการจับกุมผู้ชุมนุม ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องจัดการให้มีการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเน้นการดำเนินคดีกับแกนนำ หรือผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง หรือกระทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจนเป็นหลัก
14.2 การกำหนดเงื่อนไข หรือการยอมรับปาก หรือสัญญา ว่าจะไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำหรือกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย ควรจะได้รับการเสนอแนะโดย ผู้บัญชาการเหตุการณ์ต่อ ผู้บังคับบัญชาระดับยุทธศาสตร์ หรือผู้ประสานงานฝ่ายตำรวจ ว่าเป็นการสั่งการที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจ และจะเป็นปัญหาในทางกฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิด ทั้งทางกฎหมายอาญา ทางแพ่ง และทางกฎหมายปกครอง

15. การบันทึกภาพ บันทึกเสียง หรือบันทึกเหตุการณ์
15.1.เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องมีการบันทึกภาพ และบันทึกเสียงของกลุ่มผู้ชุมนุม ในการชุมนุมสาธารณะ โดยวิธีการที่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธในที่สาธารณะ หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตามอำนาจหน้าที่ของตำรวจตามกฎหมายในการสืบสวนก่อนเกิดเหตุ โดยให้บันทึกวันเวลาที่บันทึกภาพ ไว้ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน
15.2.การเก็บภาพการชุมนุมในที่สาธารณะ ให้หน่วยงานตำรวจคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลที่จะไม่ถูกละเมิด ในการเผยแพร่ภาพที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
15.3 ให้ตำรวจประสานหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการหรือเอกชน ที่มีระบบโทรทัศน์วงจรปิดในการบันทึกภาพและเสียงการชุมนุมในที่สาธารณะไว้เป็นพยานหลักฐาน และเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุหรือใช้ความรุนแรงหรือกระทำผิดกฎหมาย เช่นพูดปราศรัยหมิ่นประมาทผู้อื่น




16. การฟื้นฟู และการช่วยเหลือเยียวยา
16. 1 ให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา จัดระเบียบสถานที่ชุมนุมและขอรับสิทธิผู้เสียหาย ตามที่แผนกำหนดไว้
16.2.หากไม่มีแผน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องจัดให้มีระบบจัดส่งผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ การส่งผู้ถูกจับกุมไปรับการรักษาพยาบาล และดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา ตามสิทธิของผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาตามที่กฎหมายกำหนด

17. การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติต่อสื่อมวลชน
17.1 หากไม่มีการแต่งตั้งโฆษกประจำหน่วยตำรวจ เมื่อมีการจัดงานสำคัญ ควรมีการแต่งตั้งโฆษกหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำสัมพันธ์ ประจำ ศปก.สน.และจัดตั้งจุดแถลงข่าว เพื่อใช้เป็นที่แถลงข่าว และรองรับสื่อมวลชน ซึ่งควรเป็นสถานที่ที่ห่างจาก ศปก.สนพอสมควร
17.2 เป็นหน้าที่ของโฆษก หรือหัวหน้าฝ่ายประสัมพันธ์ใน ศปก.สน. ที่จะต้องจัดตั้งคณะทำงานในการเตรียมการด้านการสื่อสารด้านมวลชนสัมพันธ์ หรือประชาสัมพันธ์เพื่อเป้าหมายในการทำให้ประชาชนและสังคมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ โดยจัดการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ เป็นเกณฑ์ในการกำหนดหารือเสนอแนะแก่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้การปฏิบัติการทั้งหมดของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขเหตุชุมนุมเรียกร้องหรือการควบคุมฝูงชน มีความได้เปรียบ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสังคม และมีการสอดประสานไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
17.3 หน่วยงานทั้งหมดในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามแนวทางการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้การดำเนินงานทั้งมวลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการสร้างเสริมภาพลักษณ์ของตำรวจ เพื่อเป้าหมายในการทำให้ประชาชนและสังคมสนับสนุนการทำงานของตำรวจ โดยจัดการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ ให้การปฏิบัติการทั้งหมดของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขเหตุการชุมนุมเรียกร้องหรือการควบคุมฝูงชน มีความได้เปรียบ เป็นที่ยอมรับ เชื่อถือของสังคม และมีการสอดประสานไปในทิศทางที่สอดคล้องกันในการแก้ปัญหาการชุมนุมเรียกร้องในภาพรวมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
17.4 สื่อมวลชนมีสิทธิที่จะสังเกตการณ์ชุมนุมเรียกร้องในที่สาธารณะ และสิทธิในการบันทึกภาพและบันทึกเสียงในที่สาธารณดังกล่าว
17.5 สื่อมวลชนจะได้รับอนุญาตให้ไปสังเกตในการชุมนุมและเป็นพยานที่จะบันทึกชี่อของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมได้ เมื่อมีการประกาศเตือนผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมายให้เลิกการกระทำการชุมนุมที่เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองตามมาตรา 215 และ 216 ตามกฎหมายอาญา สื่อมวลชนที่ได้รับการบันทึกชื่อที่อยู่ สังกัด โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศปก.สน.อาจจะได้รับอนุญาตจากผู้บัญชาการเหตุการณ์ให้ไปบันทึกภาพการจับกุมได้ การจะจำกัดไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปบันทึกภาพหรือสังเกตการณ์การชุมนุม หรือการปฏิบัติของตำรวจในการจัดการแก้ไขปัญหาการชุมนุมก็ด้วยเหตุผลความปลอดภัยเท่านั้น
17. 6 โฆษกหรือหัวหน้าฝ่ายประสัมพันธ์ ใน ศปก.สน.ต้องจัดให้มีการแถลงข่าว ตามแผนที่กำหนด หรือตามวงรอบ หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ หรือเมื่อมีข่าวลือ ให้สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์ของ ศปก.หลัก และการประชาสัมพันธ์ของ ศปก.ตร. โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการข่าวสาร เกี่ยวกับกฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมตามที่คาดว่าจะก่อเหตุ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสร้างความน่าเชื่อถือชอบธรรมในความจำเป็นของตำรวจในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือควบคุมฝูงชน

18.การรายงาน
18.1 เมื่อมีเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องเกิดขึ้น หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุต้องดำเนินการรายงานเหตุการชุมนุมเรียกร้อง เป็นเหตุที่น่าสนใจต้องรายงานตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 18บทที่ 1
18.2 เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องได้ยุติลง ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ รายงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการดำเนินการตามนโยบายนี้ ข้อที่ปฏิบัติได้ผลดีทำให้การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องได้ผล และข้อที่ควรปรับปรุง หรือควรนำไปเป็นบทเรียน หรือพัฒนาการฝึก หรือแก้ไขปรับปรุง ระเบียบ นโยบาย กฎหมาย ภายใน 10 วันทำการนับแต่การชุมนุมยุติลง ต่อ ศปก.ตร.ผ่าน ศปก.หลัก

19. การฝึกอบรม ประเภทครูฝึก
19.1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดสรรงบประมาณ เพื่อทบทวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และทำการฝึกกำลังพลใหม่ เพื่อทำหน้าที่การจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือควบคุมฝูงชน และให้มีการบันทึกผลการฝึกอบรมไว้ ในสมุดประจำตัวครูฝึก หรือสมุดประจำตัวสายตรวจ ตามระบบสมรรถนะประจำตำแหน่ง ระดับ ผู้ปฏิบัติงานในระดับ ยุทธศาสตร์(ระดับทอง) ระดับยุทธการ(ระดับเงิน) และระดับผู้ปฏิบัติงาน(ระดับบรอนซ์) ตามตำแหน่งหน้าที่ โดยเฉพาะผู้ใช้อาวุธพิเศษ หรืออาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ผู้ถือและใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตา ผู้ถือหรือใช้ปืนยิงกระสุนยาง
19.2 ให้กองบัญชาการศึกษา กำหนดระเบียบในการบันทึก ผลการปฏิบัติงานจริง และการฝึกอบรมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง และจัดทำเนียบและประเภทครูฝึก การให้รหัสครูฝึกในการลงบันทึกการปฏิบัติและการฝึกของผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง การควบคุมฝูงชน ในสมุดประจำตัวครูฝึก และสมุดประจำตัวสายตรวจตามระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 24 บทที่ 2
19.3 กองบังคับการตำรวจหรือ ตำรวจภูธรจังหวัด ต้องจัดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนในระดับปฏิบัติการ ได้ผ่านการฝึกตามตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จริง ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกคน
-------------------------------------------------------------------
ตรวจแล้วถูกต้อง
พ.ต.อ.
(ณรงค์ ทรัพย์เย็น)
ผกก.ฝอ.2 บก.อก.ภ.7

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Analysis Management=ARM)
เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ณรงค์ ทรัพย์เย็น
หน่วยสืบสวนสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ได้จัดทำระบบวิเคราะห์ปัจจัยความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ ดังนี้
1.ขนาดของเหตุการณ์ รวมถึง ความต้องการกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการจัดการเหตุการณ์ ต้องใช้ทรัพยากรระดับใด จำนวนเท่าใด ถ้าเป็นขนาดเหตุการณ์ใหญ่ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น
2. ภัยคุกคามรวมถึงภัยที่อาจรู้ล่วงหน้า โดยทั้งภัยที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น การก่อการร้าย การชุมนุมประท้วง การมีกิจกรรมประท้วงเช่นจัดแข่งรถแรลลี่เพื่อปาไข่ใส่ผู้นำที่มาร่วมประชุมหรือมาเป็นประธานเปิดงาน หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ
3. ความสำคัญของเหตุการณ์หรืองานที่จัด บางเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การเมือง และหรือเป็นสัญญาลักษณ์ที่สำคัญที่อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดเป็นเป้าหมายดึงดูดให้เกิดการชุมนุมเรียกร้อง เช่น วันครบรอบเกิดเหตุการณ์ สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ต.ค. หรือเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อรำลึก 16 ต.ค.
4.ช่วงระยะเวลาเหตุการณ์ ถ้าเหตุการณ์หรือการจัดงานมีระยะเวลายาว ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ระดับความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขื้นไปด้วย
5.สถานที่ บางสถานที่ที่เกิดเหตุหรืสถานที่จัดงานเป็นสถานที่น่าชี้ชวน ดึงดูดให้บางกลุ่มเป้าหมายหรือคนร้าย อยากเข้าโจมตีหรือก่อเหตุ เช่น รัฐสภา หรือสัญลักษณ์ของเมือง หรือกลุ่มทุน เช่น อาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์นิวยอร์ค อาคารเพ็นตากอนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และหลักการทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อมแล้ว บางเมืองที่เป็นสถานที่จัดงาน มีทางเข้าออกเมืองเพียงสองทาง ควบคุมผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือมีสภาพเป็นเมืองที่ห่างจากเมืองบริวารอื่น ๆหรือเป็นเกาะกลางทะเล เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องจากเมืองอื่นมา ทางการสามารถควบคุมหรือแจ้งเตือนจัดการปัญหากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือเมืองที่จัดงานผู้คนและผู้นำทางการเมืองเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล หรือมีฐานเสียงรัฐบาลหนาแน่น ก็น่าเชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มผู้มาต่อต้านหรือคุกคามการประชุม
6. ผู้เข้าร่วมงาน หมายถึงกลุ่มคนที่มาร่วมงานหรือมาร่วมชุมนุมเรียกร้อง ว่ามีพื้นฐาน ภูมิหลังทางวัฒนธรรม การเมือง และศาสนาอย่างไร ถ้าเมืองนั้นเป็นเมืองฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาลก็น่าเชื่อว่าจะมีกลุ่มพลังมวลชนที่จะมาชุมนุมคัดค้านจากคนในพื้นที่เป็นจำนวนน้อย แต่จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก
7. การประชาสัมพันธ์หรือความสนใจของสื่อ หากมีการประชาสัมพันธ์มาก ก็จะจูงใจให้คนบางกลุ่มต้องการช่วงชิงพื้นที่ข่าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือเพื่อสร้างราคาหรือเพิ่มมูลค่าหรือค่าตัวให้กับกลุ่มหรือให้กับตนเอง โดยอาศัยเหตุการณ์ หรือกระแสความเกลียดชังของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่หรือตำรวจ หรือสร้างข่าวจากความดังของงานหรือกิจกรรมสำคัญหรือการชุมนุมที่จะจัดขึ้น
8.ความสำคัญของบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน หากมีบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ หรือ ดารามาร่วมงาน ก็จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยตามสถานะหรือระดับภัยคุกคามของแต่ละบุคคลสำคัญ ยิ่งมีบุคคลหรือดารา ที่มีผู้สนใจมาก คลั่งไคล้หรือมีกลุ่มผู้นิยม (FAN CLUB) หรือที่นิยมเรียกว่า “แฟนพันธุ์แท้” เป็นจำนวนมากเท่าใด ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อนำปัจจัยข้างต้นมารวมกันแล้วเพื่อหาค่าเฉลี่ย สามารถจัดกลุ่มของปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและนำมาหาค่าเฉลี่ยของแต่ละปัจจัยรวมได้ดังนี้
1.ภัยคุกคาม (THREAT) คือ ปัจจัยที่ 1, 2, 3, 5, 6, 7, 8 (เว้น 4 )
2.จุดอ่อน (VULNERABILITY) หมายถึง ข้อด้อยของฝ่ายเราหรือฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายจัดงาน คือปัจจัยในข้อ 1, 4 และ 5
3.ผลกระทบ (IMPACT) คือปัจจัยในข้อ 1, 3, 5 ,6 , 7 และ 8 (เว้น 4 และ 2)

หน่วยงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา(FBI)ได้คิดระบบการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Risk Management (ARM) ได้มีการนำปัจจัยทั้ง 3 ตัวมาให้ค่าระดับ 1-4
ค่าระดับ 4 หมายถึง ภัยคุกคามหรือจุดอ่อนหรือผลกระทบที่สูงสุด เช่น ผลกระทบที่ทำให้ผู้มาร่วมงานหรือบุคคลสำคัญที่มาร่วมงานถึงตาย บาดเจ็บหรือทำให้ต้องล้มเลิกการประชุม จุดอ่อนระดับ 4 เช่น ไม่มีระบบการป้องกัน และภัยคุกตามระดับ 4 คือการใช้อาวุธระดับรุนแรงมากสุด เช่น การจลาจลเผาเมือง หรือการใช้อาวุธปืนลอบยิงเป้าหมายสำคัญ
ค่าระดับ 1 หมายถึง การมีผลกระทบภัยคุกคามจุดอ่อนอย่างเบาบาง
ค่าระดับ 2 – 3 เป็นการให้ค่าแบ่งช่วงระหว่างระดับ 1 – 4 ของภัยคุกคามจุดอ่อน และผลกระทบ
สูตรการคำนวณระดับความเสี่ยง(Risk)=ผลกระทบ( Impact)Xภัยคุกคาม(Threat) x จุดอ่อน(Vulnerability) โดยเขียนเป็นสมการได้ดังนี้ R = ITV
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นการจัดประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก มีผลกระทบ(I)ต่อการลงนามลดภาษี เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการประชุมนี้ถ้าลงนามไม่ได้ ประเทศต้องมีเศรษฐกิจถดถอยตลอดไป ดังนี้ ผลกระทบควรจะมีค่าเท่ากับระดับสูงสุดคือ 4
หากมีข่าวว่าจะมีกลุ่มต่อต้านประกาศว่าจะชุมนุมประท้วงเพื่อล้มการประชุมนี้ เพราะเป็นที่ชุมนุมของผู้นำประเทศนายทุน และกลุ่มนี้เคยประท้วงล้มการประชุมรัฐมนตรีองค์การค้าโลก ที่เมืองซีแอตเติ้ลมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1999 ดังนี้ค่าภัยคุกคาม(T) ควรจะอยู่ที่ระดับสูงสุดคือ 4 และ เมืองที่จะจัดการประชุมมีลักษณะเป็นเมืองที่ผังเมืองไม่ดี มีคนจนหรือสลัมมาก แรงงานต่างด้าวมาก เข้าออกประเทศได้ง่าย อยู่ใกล้กับเมืองที่เป็นฐานของกลุ่มก่อการร้าย แต่มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ส่วนระบบตำรวจหรือการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐานสากล ตำรวจที่ฝึกและเตรียมไว้เพื่อจัดการแก้ไขเหตุชุมนุมประท้วงทั้งประเทศมีเพียง 2 กองร้อย ซึ่งขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยเช่นแก๊สน้ำตา ดังนี้ค่าของจุดอ่อนจึงควรมีค่าเท่ากับ 3 เมื่อนำทั้งสามปัจจัยรวม มาเข้าสมการ R=ITVจะเท่ากับ 4X4X3 =48 ดังนั้นค่าความเสี่ยงคือ 48จากคะแนนเต็ม 64 ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงมากสุด
การตีความค่าระดับคะแนนความเสี่ยง และคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อแก้ไขเหตุ
ระดับคะแนน
ระดับความเสี่ยง
คำแนะนำ
36-64
เสี่ยงมากสุด
1.ควรล้มเลิกภารกิจหรือการจัดงาน
2.หากไม่แก้ไขเหตุปัจจัยในการลดภัยคุกคามด้วยมาตรการด้านการข่าวหรือการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และเสริมมาตรการในการลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงสุด เช่น มีการเสียชีวิต หรือการจัดงานสำคัญนี้ต้องล้มเลิก เสียหน้าหรือเสียชื่อเสียงของประเทศ
24-35
เสี่ยงสูง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้มากตามประเด็นที่ได้สำรวจหรือสืบสวนเน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
2.ทำการฝึกซ้อมผู้บังคับบัญชา ศูนย์ปฏิบัติการ เตรียมหน่วยตำรวจ หรือหน่วยกำลังในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ให้มีความเข้มในการฝึกและผสมกับการสืบสวนเพื่อให้ทราบภัยที่จะเกิดขึ้น ทำแผนเผชิญเหตุ และฝึกซ้อมตามแผนไว้หลาย ๆ กรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ ระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
16-23
เสี่ยงปานกลาง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับความสมดุลในความคุ้มค่ากับการลงทุนและผลที่ตอบแทน
2.เตรียมการฝึกซ้อม ทำแผนเผชิญเหตุระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
8-15
เสี่ยงบ้าง
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ให้มากเพื่อสร้างภาพลักษณ์
2.ดำเนินการมาตรการด้านการข่าวเพื่อลดภัยและหามาตรการด้านการป้องกันให้เหมาะกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
1-7
เสี่ยงน้อย
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะลดภัยให้มากสุด เสริมความมีเกียรติ น่าเชื่อถือหน้าตาของหน่วยงาน เมือง และประเทศชาติ
2.สร้างความเข้าใจกับประชาชนและเสริมภาพลักษณ์ให้แก่หน่วยงาน เมือง ประเทศชาติ

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ระเบียบการนำหน่วย ผบ.ร้อยควบคุมฝูงชน

ระเบียบการนำหน่วย

หัวหน้าหน่วยกำลังที่จะต้องเข้าปฏิบัติภารกิจทางยุทธวิธี เช่นการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือไปรักษาความสงบรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ เช่นไปตั้งจุดตรวจ จุดสกัดคนร้าย รักษาความปลอดภัยในการชุมนุม หรือในการปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังเป็นจำนวนมาก คือตั้งแต่หนึ่งหมู่ขึ้นไปนั้น หน่วยงานตำรวจหรือหน่วยกำลังต่าง ๆทั่วโลก ได้นำระบบการจัดการของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทางทหารมาประยุกต์ใช้ เพื่อการเตรียมการและเข้าปฏิบัติการภารกิจต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภารกิจทางทหารหรือที่ไม่ใช่ภารกิจทางทหารเช่นการรักษาสันติภาพ ซึ่งเรียกระบบการจัดการนี้ว่า “ระเบียบการนำหน่วย”(Troops Leading Proceduresย่อว่า TPLs)
ซึ่งระเบียบการนำหน่วยนี้ จะเป็นระบบการจัดการที่เป็นเครื่องช่วยให้หัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยกำลังแต่ละระดับ ได้ใช้เป็นเครื่องมือจัดการเพื่อเตรียมการและเข้าปฏิบัติภารกิจได้ครบวงจรไม่หลงลืมและมีการจัดการที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอนชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นรู้ว่าจะต้องไปปฏิบัติภารกิจ ขณะเข้าปฏิบัติการ จนถึงเมื่อปฏิบัติการเสร็จสิ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปที่เป็นผู้มอบภารกิจ ได้ใช้เป็นเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบ(Checklists)การเตรียมการและการเข้าปฏิบัติภารกิจของหัวหน้าหน่วยรอง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าหน่วยแต่ละระดับ
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติของ ผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมกำลังตำรวจในการปฏิบัติภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ทุกระดับตั้งแต่ ผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย ผู้บัญชาการกองกำลังควบคุมฝูงชน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ศูนย์ปฏิบัติการหลัก ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหลัง ได้มีระบบการจัดการกับกำลังพลที่มาร่วมปฏิบัติการในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือมีเครื่องมือที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเข้าใจตรงกัน และเป็นระบบสากลที่หลายหน่วยงานนำไปประยุกต์ใช้ จึงสมควรนำระเบียบการนำหน่วยมาประยุกต์ใช้ในภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ให้เหมาะสมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจ (Mission=M) ภัยคุกคาม ความเสี่ยงหรือภยันตรายจากการชุมนุมเรียกร้อง (Enemies &Threat=E) การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบกฎหมาย (Civil Consideration=C) กำลังพลและอุปกรณ์(Troops=T) เวลาที่เหลือก่อนเริ่มภารกิจ (Time=T) สภาพพื้นที่และสังคมที่เอื้อหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำภารกิจนี้โดยตำรวจ (Terrain=T)
ตามสมการความสำเร็จของภารกิจขึ้นกับปัจจัยดังนี้ M=E-C(T+T+T) ซึ่งจะเห็นได้จากสมการนี้ว่า การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบของกฎหมาย จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในความสำเร็จของภารกิจ หากการปฏิบัติของตำรวจในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้กำลัง อุปกรณ์มากเท่าใด เวลา หรือสถานที่เกื้อกูลให้ภารกิจสำเร็จได้ง่ายเท่าใด ก็จะไม่ทำให้ภารกิจสำเร็จ หรือเป็นบวกได้ ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นการขยายโอกาส หรือเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมหรือความสำเร็จของการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจมีบางกลุ่มมีเจตนาพิเศษให้เกิดความรุนแรง ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนแล้วก็ได้

ขั้นตอนการปฏิบัติของผู้บังคับหน่วยการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องตามหลักการระเบียบการนำหน่วย

ขั้นที่ ๑ รับภารกิจ
เมื่อได้รับภารกิจหรือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้ว หัวหน้าหน่วยกำลังจะเริ่มต้นเตรียมการดังนี้
๑.๑ วิเคราะห์ภารกิจ หากิจเฉพาะและกิจแฝง แล้วสรุปเป็นภารกิจที่หน่วยต้องปฏิบัติ โดยคำนึงถึงปัจจัยความสำเร็จของภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง (M=E-C(T+T+T))
๑.๒ วางแผนการใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเคลื่อนย้ายหน่วย หรือเริ่มปฏิบัติภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหลักการแล้วหัวหน้าหน่วยจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ประมาณ ๑ ส่วน ส่วนอีก๒ ส่วนที่เหลือ จะเหลือให้กำลังพลไปเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประจำตัว ยา
๑.๓ รวบรวมข่าวสารและประสานงานกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารจากศูนย์ปฏิบัติการหลักที่รับผิดชอบจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องนี้

ขั้นที่ ๒ ออกคำสั่งเตือน เพื่อให้หน่วยรองและกำลังพลที่จะไปปฏิบัติภารกิจ ได้เตรียมการตั้งแต่ต้น สาระคือ
๑. สถานการณ์โดยสรุป
๒. ภารกิจ
๓. เวลาที่จะต้องปฏิบัติภารกิจ (ถ้ามีห้วงเวลานาน จะต้องเตรียมเสื้อผ้าไปด้วย)
๔. คำแนะนำพิเศษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งกำลังบำรุง หรือการขนส่ง สถานที่พัก อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์อะไรที่ต้องเตรียมไปบ้าง อุปกรณ์จะจ่ายที่ใด เวลาใด
๕. เวลาและสถานที่ที่จะให้คำสั่งหรือมารวมพลขั้นต้น(จุดรวมพลขั้นต้น)
ขั้นที่ ๓ วางแผนขั้นต้น
๑. ประมาณสถานการณ์ขั้นต่อไป โดยอาศัยปัจจัย M=E-C(T+T+T)
๒. ศึกษาและวิเคราะห์สถานที่จัดการชุมนุมจากแผนที่ พร้อมทั้งกำหนดหนทางการปฏิบัติในขั้นต้นว่าหน่วยจะไปทำภารกิจอะไร และมีโอกาสที่จะพบกับเหตุอะไรบ้าง (คล้ายกับการวาดภาพการรบ)
๓. พบปะฝ่ายอำนวยการเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร
๔. ให้แนวทางการวางแผน กับเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน เกี่ยวกับ
๔.๑ กล่าวย้ำภารกิจ (บ่งถึงกิจเฉพาะที่จะต้องทำให้สำเร็จ)
๔.๒ ข้อพิจารณาทางยุทธวิธี (กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ แบบของการดำเนินการปฏิบัติ เช่นไปตั้งจุดสกัด ไปรักษาความปลอดภัยสถานีไฟฟ้า หรือเข้าไปเป็นแนวเจรจาขั้นสุดท้ายไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่าน หรือไปสลายการชุมนุม ขั้นตอนการปฏิบัติ ฯลฯ)
๔.๓ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหนทางปฏิบัติโดยทั่วไป หลักกฎหมายที่รองรับ การประชาสัมพันธ์ หรือการรักษาภาพลักษณ์ของหน่วย
๔.๔ ปัญหาของสถานการณ์ (ข้อจำกัด, การกำหนดวิธีปฏิบัติ, หัวข้อข่าวสารสำคัญ(หขส), การปฏิบัติ, ขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงในการชุมนุม (ความเสี่ยง =ผลกระทบ X ภัยคุกคาม X จุดอ่อน หรือ Risk(R)=Impact(I) X Threat(T) X Vulnerability(V)

ขั้นที่ ๔ เริ่มการเคลื่อนย้ายที่จำเป็น
เริ่มต้นเคลื่อนย้ายหน่วยที่จำเป็นไปข้างหน้า หรือเข้าที่รวมพล เพื่อเตรียมการปฏิบัติการเช่นกำลังพลในกองร้อยควบคุมฝูงชนอยู่หมู่ละ ๑ สภ. ซึ่ง สภ.ที่ไกลสุดห่างจากที่รวมพลขั้นต้น ที่ ภ.จว.เป็นระยะทางกว่า ๑๐๐ กม.และกำลังพลส่วนใหญ่เข้าเวรสายตรวจรถจักรยานยนต์อยู่ขณะนี้ ดังนี้ ควรต้องให้เวลา โดยการออกคำสั่งเตือน แจ้งเวลารวมพล การตรวจความพร้อม ตั้งแต่เริ่มรับคำสั่งให้เร็วที่สุด

ขั้นที่ ๕ การลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ
ลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศอย่างละเอียดถ้ามีเวลา ถ้าไม่มีเวลาพอก็จะต้องไปดู สำรวจภูมิประเทศจริง หรือไม่เป็นการยั่วยุ หรือเป็นอันตรายระหว่างการตรวจภูมิประเทศ เพื่อปรับแผนให้เหมาะสม และควรไปตรวจภูมิประเทศในเวลาที่ต้องปฏิบัติการจริง เช่น เวลากลางคืน สภาพการจราจร และแสงไฟอาจแตกต่างจากวันทำงาน และในเวลากลางวัน โดยควรนำผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ไปตรวจพื้นที่ด้วย

ขั้นที่ ๖ ทำแผนให้สมบูรณ์ อนุมัติแผน
๑. รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายอำนวยการ หรือจาก ศูนย์ปฏิบัติการ และนำค่าวิเคราะห์ความเสี่ยง มาทำประมาณสถานการณ์ (พิจารณาปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงก่อน )
๒. ประมาณสถานการณ์ (ใช้สมการ M=E-C(T+T+T) ) โดยยึดกรอบกฎหมาย และการยอมรับได้ของสังคมไทย และประชาคมโลกด้วย แล้วประกาศข้อตกลงใจและแนวความคิดในการปฏิบัติ
๓. กำกับดูแลและเตรียมการเกี่ยวกับ แผน/คำสั่ง
๔. นำแผนไปบรรยายให้ ผบ.เหตุการณ์ อนุมัติ หรือปรับแก้ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วให้ประสานแผน/คำสั่ง กับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน



ขั้นที่ ๗ การสั่งการ
๑.เรียกประชุม ผบ.หมู่ ผบ.มว ส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือกำลังทั้งหมด มีแผนที่ หรือภูมิประเทศจำลอง ของสถานที่ชุมนุม หรือพื้นที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อใช้ประกอบการสั่งการ
๒.ในระดับกองร้อยควบคุมฝูงชน ควรสั่งการด้วยวาจาเท่านั้น และอาจแจกจ่ายคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง (ถ้ามี) หัวข้อคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ คือ ๑. สถานการณ์ ๒.ภารกิจ ๓.การปฏิบัติแต่ละหน่วย กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ ๔.การส่งกำลังบำรุง การจ่ายอาหาร น้ำ การขนส่ง ๕.การสื่อสารและการบังคับบัญชา โดย อาจแจกจ่ายแยกกัน หรือแจกจ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะหัวข้อที่จำเป็น คือข้อ ๓ การปฏิบัติของแต่ละหน่วย เท่านั้น แล้ว ให้ผู้บังคับหน่วยแต่ละหน่วย สรุปกลับว่า แต่ละหน่วย ต้องไปทำอะไร เพื่ออะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร (Brief-back)

ขั้นที่ ๘ การกำกับดูแล
๑. สนับสนุนคำสั่งให้ได้ผล โดยกำกับดูแลแก้ไข การฝึกซ้อมของแต่ละหน่วย ตามระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ การปฏิบัติของหน่วย ณ แนวเจรจาขั้นสุดท้าย หรือการปฏิบัติของหน่วย ณ ที่หมาย(สถานที่ชุมนุม) ตามภารกิจที่ได้รับมอบและสั่งการแล้ว โดยอาจซักซ้อมการวางกำลัง ขั้นตอนการปฏิบัติ เฉพาะตัวหัวหน้าหน่วย(ผบ.หมู่, ผบ.มว,ผบ.ร้อย)ก่อน (คือแบบการฝึกยุทธวิธีเฉพาะผู้บังคับบัญชาโดยไม่ใช้กำลังพล( Tactical Exercise Without Troops ย่อว่า TEWOT)) เพื่อประหยัดเวลา ป้องกันปัญหาการกล่าวหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่าใช้กำลังมาข่มขู่ และลดปัญหาความสับสนวุ่นวายจากการใช้กำลังพลจำนวนมากมาฝึกซ้อม
๒. ให้ฝ่ายอำนวยการหรือเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน , ผบ.หน่วยรอง เช่น รองผบ.หมวด รองผบ.หมู่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กำกับดูแล เพื่อให้บังเกิดผลของการปฏิบัติในเรื่องการตรวจสิ่งอุปกรณ์ประจำตัว เช่น กระบอง โล่ เครื่องแต่งกายป้องกันตัว ตรวจอาวุธที่อาจเป็นอันตราย และฝึกซ้อมการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ และตรวจยอดกำลังพล สรุปข่าวหรือสถานการณ์ที่ได้รับล่าสุด
๓. ดำรงการติดต่อข่าวสารกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน ว่าเหตุหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปเช่นไร เช่นกลุ่มผู้ชุมนุมอาจมีระเบิดปิงปอง ให้ระมัดระวัง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ให้ผู้ปะทะแถวหน้าสวมเสื้อเกราะป้องกันกระสุนปืน
๔. ปรับปรุงและแก้ไขแผนให้เหมาะสมได้ตามต้องการ และผู้บังคับหน่วยมากล่าวย้ำ ภารกิจโดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ M=E-C(T+T+T) และซักซ้อมครั้งสุดท้าย เรื่อง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ กฎการใช้กำลัง การสั่งเริ่มหรือ เลิกปฏิบัติ จุดนัดพบ หลังการจัดระเบียบใหม่ เมื่อการปฏิบัติ ณ ที่หมายเสร็จแล้ว หรือมีการแตกขบวน พลัดหลง การรักษาพยาบาล สัญญาบอกฝ่าย เป็นต้น
๕. ปฏิบัติภารกิจและบรรจุภารกิจอย่างสมบูรณ์ โดยการตรวจการปฏิบัติ ณ จุดรวมพลขั้นสุดท้าย และเมื่อจะเลิกภารกิจ หัวหน้าหน่วย ต้องมีการตรวจยอดกำลังพล ณ จุดนัดพบ ซึ่งอาจเป็นที่เดียวกับจุดรวมพล เพื่อสำรวจความเสียหาย ดูแลผู้บาดเจ็บ ส่งมอบพื้นที่หรือผู้ต้องหา ของกลาง ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวน หรือศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า หรือส่งมอบภารกิจให้กับกองร้อยควบคุมฝูงชนที่มาสับเปลี่ยนภารกิจต่อไป
๖.การรายงานหลังการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติภารกิจ เสร็จแล้ว กลับไปที่ที่ตั้งตามปกติแล้ว จะต้องรายงานผลการปฏิบัติ ที่เรียกว่า “รายงานหลังการปฏิบัติ” (After Action Report ย่อว่า AAR) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๖.๑ ลำดับเหตุการณ์ตามระเบียบการนำหน่วยนี้ และผลการปฏิบัติของหน่วยตามเหตุการณ์โดยลำดับ
๖.๒ ข้อที่หน่วยปฏิบัติได้ผลดี หรือการที่หน่วยเหนือ หน่วยข้างเคียง หน่วยรอง หรือศูนย์ปฏิบัติการ ปฏิบัติการได้ผลดี หรือเป็นสิ่งดี ที่ควรจะต้องดำเนินการต่อไปในการปฏิบัติภารกิจภายภาคหน้า
๖.๓ ข้อขัดข้อง สิ่งที่ควรปรับปรุงพัฒนาของหน่วยตนเอง หน่วยเหนือ หน่วยรอง หน่วยข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง
๖.๔ ข้อเสนอแนะทั่วไป และประเด็นปัญหาที่อาจเป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจ
๑) การขึ้นศาล หรือการส่งมอบพยานหลักฐาน รูปภาพ ที่หน่วยไปปฏิบัติหน้าที่
๒)การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ วิธีปฏิบัติงาน ระเบียบ คำสั่งและกฎหมาย
๓)ข้อแนะนำทางด้านการฝึกอบรม
๔) ข้อแนะนำด้านขวัญและกำลังใจ และการส่งกำลังบำรุง เบี้ยเลี้ยง
-----------------------------------