วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ระเบียบการนำหน่วย ผบ.ร้อยควบคุมฝูงชน

ระเบียบการนำหน่วย

หัวหน้าหน่วยกำลังที่จะต้องเข้าปฏิบัติภารกิจทางยุทธวิธี เช่นการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือไปรักษาความสงบรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ เช่นไปตั้งจุดตรวจ จุดสกัดคนร้าย รักษาความปลอดภัยในการชุมนุม หรือในการปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังเป็นจำนวนมาก คือตั้งแต่หนึ่งหมู่ขึ้นไปนั้น หน่วยงานตำรวจหรือหน่วยกำลังต่าง ๆทั่วโลก ได้นำระบบการจัดการของผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยทางทหารมาประยุกต์ใช้ เพื่อการเตรียมการและเข้าปฏิบัติการภารกิจต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภารกิจทางทหารหรือที่ไม่ใช่ภารกิจทางทหารเช่นการรักษาสันติภาพ ซึ่งเรียกระบบการจัดการนี้ว่า “ระเบียบการนำหน่วย”(Troops Leading Proceduresย่อว่า TPLs)
ซึ่งระเบียบการนำหน่วยนี้ จะเป็นระบบการจัดการที่เป็นเครื่องช่วยให้หัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยกำลังแต่ละระดับ ได้ใช้เป็นเครื่องมือจัดการเพื่อเตรียมการและเข้าปฏิบัติภารกิจได้ครบวงจรไม่หลงลืมและมีการจัดการที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอนชัดเจน ตั้งแต่เริ่มต้นรู้ว่าจะต้องไปปฏิบัติภารกิจ ขณะเข้าปฏิบัติการ จนถึงเมื่อปฏิบัติการเสร็จสิ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปที่เป็นผู้มอบภารกิจ ได้ใช้เป็นเครื่องมือหรือตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบ(Checklists)การเตรียมการและการเข้าปฏิบัติภารกิจของหัวหน้าหน่วยรอง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาระดับหัวหน้าหน่วยแต่ละระดับ
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติของ ผู้บังคับบัญชาที่ควบคุมกำลังตำรวจในการปฏิบัติภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ทุกระดับตั้งแต่ ผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย ผู้บัญชาการกองกำลังควบคุมฝูงชน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ศูนย์ปฏิบัติการหลัก ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหลัง ได้มีระบบการจัดการกับกำลังพลที่มาร่วมปฏิบัติการในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง หรือมีเครื่องมือที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเข้าใจตรงกัน และเป็นระบบสากลที่หลายหน่วยงานนำไปประยุกต์ใช้ จึงสมควรนำระเบียบการนำหน่วยมาประยุกต์ใช้ในภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ให้เหมาะสมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ภารกิจ (Mission=M) ภัยคุกคาม ความเสี่ยงหรือภยันตรายจากการชุมนุมเรียกร้อง (Enemies &Threat=E) การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบกฎหมาย (Civil Consideration=C) กำลังพลและอุปกรณ์(Troops=T) เวลาที่เหลือก่อนเริ่มภารกิจ (Time=T) สภาพพื้นที่และสังคมที่เอื้อหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำภารกิจนี้โดยตำรวจ (Terrain=T)
ตามสมการความสำเร็จของภารกิจขึ้นกับปัจจัยดังนี้ M=E-C(T+T+T) ซึ่งจะเห็นได้จากสมการนี้ว่า การยอมรับได้ของสังคมภายใต้กรอบของกฎหมาย จะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญในความสำเร็จของภารกิจ หากการปฏิบัติของตำรวจในการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะใช้กำลัง อุปกรณ์มากเท่าใด เวลา หรือสถานที่เกื้อกูลให้ภารกิจสำเร็จได้ง่ายเท่าใด ก็จะไม่ทำให้ภารกิจสำเร็จ หรือเป็นบวกได้ ในทางตรงกันข้าม อาจเป็นการขยายโอกาส หรือเป็นการส่งเสริมความชอบธรรมหรือความสำเร็จของการก่อความไม่สงบโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่อาจมีบางกลุ่มมีเจตนาพิเศษให้เกิดความรุนแรง ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ก่อนแล้วก็ได้

ขั้นตอนการปฏิบัติของผู้บังคับหน่วยการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องตามหลักการระเบียบการนำหน่วย

ขั้นที่ ๑ รับภารกิจ
เมื่อได้รับภารกิจหรือคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้ว หัวหน้าหน่วยกำลังจะเริ่มต้นเตรียมการดังนี้
๑.๑ วิเคราะห์ภารกิจ หากิจเฉพาะและกิจแฝง แล้วสรุปเป็นภารกิจที่หน่วยต้องปฏิบัติ โดยคำนึงถึงปัจจัยความสำเร็จของภารกิจการจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้อง (M=E-C(T+T+T))
๑.๒ วางแผนการใช้เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเคลื่อนย้ายหน่วย หรือเริ่มปฏิบัติภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหลักการแล้วหัวหน้าหน่วยจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ประมาณ ๑ ส่วน ส่วนอีก๒ ส่วนที่เหลือ จะเหลือให้กำลังพลไปเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประจำตัว ยา
๑.๓ รวบรวมข่าวสารและประสานงานกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารจากศูนย์ปฏิบัติการหลักที่รับผิดชอบจัดการเหตุชุมนุมเรียกร้องนี้

ขั้นที่ ๒ ออกคำสั่งเตือน เพื่อให้หน่วยรองและกำลังพลที่จะไปปฏิบัติภารกิจ ได้เตรียมการตั้งแต่ต้น สาระคือ
๑. สถานการณ์โดยสรุป
๒. ภารกิจ
๓. เวลาที่จะต้องปฏิบัติภารกิจ (ถ้ามีห้วงเวลานาน จะต้องเตรียมเสื้อผ้าไปด้วย)
๔. คำแนะนำพิเศษอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งกำลังบำรุง หรือการขนส่ง สถานที่พัก อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์อะไรที่ต้องเตรียมไปบ้าง อุปกรณ์จะจ่ายที่ใด เวลาใด
๕. เวลาและสถานที่ที่จะให้คำสั่งหรือมารวมพลขั้นต้น(จุดรวมพลขั้นต้น)
ขั้นที่ ๓ วางแผนขั้นต้น
๑. ประมาณสถานการณ์ขั้นต่อไป โดยอาศัยปัจจัย M=E-C(T+T+T)
๒. ศึกษาและวิเคราะห์สถานที่จัดการชุมนุมจากแผนที่ พร้อมทั้งกำหนดหนทางการปฏิบัติในขั้นต้นว่าหน่วยจะไปทำภารกิจอะไร และมีโอกาสที่จะพบกับเหตุอะไรบ้าง (คล้ายกับการวาดภาพการรบ)
๓. พบปะฝ่ายอำนวยการเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร
๔. ให้แนวทางการวางแผน กับเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน เกี่ยวกับ
๔.๑ กล่าวย้ำภารกิจ (บ่งถึงกิจเฉพาะที่จะต้องทำให้สำเร็จ)
๔.๒ ข้อพิจารณาทางยุทธวิธี (กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ แบบของการดำเนินการปฏิบัติ เช่นไปตั้งจุดสกัด ไปรักษาความปลอดภัยสถานีไฟฟ้า หรือเข้าไปเป็นแนวเจรจาขั้นสุดท้ายไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมผ่าน หรือไปสลายการชุมนุม ขั้นตอนการปฏิบัติ ฯลฯ)
๔.๓ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับหนทางปฏิบัติโดยทั่วไป หลักกฎหมายที่รองรับ การประชาสัมพันธ์ หรือการรักษาภาพลักษณ์ของหน่วย
๔.๔ ปัญหาของสถานการณ์ (ข้อจำกัด, การกำหนดวิธีปฏิบัติ, หัวข้อข่าวสารสำคัญ(หขส), การปฏิบัติ, ขั้นตอนการปฏิบัติ การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงในการชุมนุม (ความเสี่ยง =ผลกระทบ X ภัยคุกคาม X จุดอ่อน หรือ Risk(R)=Impact(I) X Threat(T) X Vulnerability(V)

ขั้นที่ ๔ เริ่มการเคลื่อนย้ายที่จำเป็น
เริ่มต้นเคลื่อนย้ายหน่วยที่จำเป็นไปข้างหน้า หรือเข้าที่รวมพล เพื่อเตรียมการปฏิบัติการเช่นกำลังพลในกองร้อยควบคุมฝูงชนอยู่หมู่ละ ๑ สภ. ซึ่ง สภ.ที่ไกลสุดห่างจากที่รวมพลขั้นต้น ที่ ภ.จว.เป็นระยะทางกว่า ๑๐๐ กม.และกำลังพลส่วนใหญ่เข้าเวรสายตรวจรถจักรยานยนต์อยู่ขณะนี้ ดังนี้ ควรต้องให้เวลา โดยการออกคำสั่งเตือน แจ้งเวลารวมพล การตรวจความพร้อม ตั้งแต่เริ่มรับคำสั่งให้เร็วที่สุด

ขั้นที่ ๕ การลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ
ลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศอย่างละเอียดถ้ามีเวลา ถ้าไม่มีเวลาพอก็จะต้องไปดู สำรวจภูมิประเทศจริง หรือไม่เป็นการยั่วยุ หรือเป็นอันตรายระหว่างการตรวจภูมิประเทศ เพื่อปรับแผนให้เหมาะสม และควรไปตรวจภูมิประเทศในเวลาที่ต้องปฏิบัติการจริง เช่น เวลากลางคืน สภาพการจราจร และแสงไฟอาจแตกต่างจากวันทำงาน และในเวลากลางวัน โดยควรนำผู้บังคับหมู่ ผู้บังคับหมวด ไปตรวจพื้นที่ด้วย

ขั้นที่ ๖ ทำแผนให้สมบูรณ์ อนุมัติแผน
๑. รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายอำนวยการ หรือจาก ศูนย์ปฏิบัติการ และนำค่าวิเคราะห์ความเสี่ยง มาทำประมาณสถานการณ์ (พิจารณาปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงก่อน )
๒. ประมาณสถานการณ์ (ใช้สมการ M=E-C(T+T+T) ) โดยยึดกรอบกฎหมาย และการยอมรับได้ของสังคมไทย และประชาคมโลกด้วย แล้วประกาศข้อตกลงใจและแนวความคิดในการปฏิบัติ
๓. กำกับดูแลและเตรียมการเกี่ยวกับ แผน/คำสั่ง
๔. นำแผนไปบรรยายให้ ผบ.เหตุการณ์ อนุมัติ หรือปรับแก้ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วให้ประสานแผน/คำสั่ง กับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน



ขั้นที่ ๗ การสั่งการ
๑.เรียกประชุม ผบ.หมู่ ผบ.มว ส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือกำลังทั้งหมด มีแผนที่ หรือภูมิประเทศจำลอง ของสถานที่ชุมนุม หรือพื้นที่ที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อใช้ประกอบการสั่งการ
๒.ในระดับกองร้อยควบคุมฝูงชน ควรสั่งการด้วยวาจาเท่านั้น และอาจแจกจ่ายคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง (ถ้ามี) หัวข้อคำสั่งปฏิบัติการเป็นส่วน ๆ คือ ๑. สถานการณ์ ๒.ภารกิจ ๓.การปฏิบัติแต่ละหน่วย กฎการใช้กำลัง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ ๔.การส่งกำลังบำรุง การจ่ายอาหาร น้ำ การขนส่ง ๕.การสื่อสารและการบังคับบัญชา โดย อาจแจกจ่ายแยกกัน หรือแจกจ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะหัวข้อที่จำเป็น คือข้อ ๓ การปฏิบัติของแต่ละหน่วย เท่านั้น แล้ว ให้ผู้บังคับหน่วยแต่ละหน่วย สรุปกลับว่า แต่ละหน่วย ต้องไปทำอะไร เพื่ออะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร (Brief-back)

ขั้นที่ ๘ การกำกับดูแล
๑. สนับสนุนคำสั่งให้ได้ผล โดยกำกับดูแลแก้ไข การฝึกซ้อมของแต่ละหน่วย ตามระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ การปฏิบัติของหน่วย ณ แนวเจรจาขั้นสุดท้าย หรือการปฏิบัติของหน่วย ณ ที่หมาย(สถานที่ชุมนุม) ตามภารกิจที่ได้รับมอบและสั่งการแล้ว โดยอาจซักซ้อมการวางกำลัง ขั้นตอนการปฏิบัติ เฉพาะตัวหัวหน้าหน่วย(ผบ.หมู่, ผบ.มว,ผบ.ร้อย)ก่อน (คือแบบการฝึกยุทธวิธีเฉพาะผู้บังคับบัญชาโดยไม่ใช้กำลังพล( Tactical Exercise Without Troops ย่อว่า TEWOT)) เพื่อประหยัดเวลา ป้องกันปัญหาการกล่าวหาจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่าใช้กำลังมาข่มขู่ และลดปัญหาความสับสนวุ่นวายจากการใช้กำลังพลจำนวนมากมาฝึกซ้อม
๒. ให้ฝ่ายอำนวยการหรือเจ้าหน้าที่ บก.ร้อยควบคุมฝูงชน , ผบ.หน่วยรอง เช่น รองผบ.หมวด รองผบ.หมู่หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กำกับดูแล เพื่อให้บังเกิดผลของการปฏิบัติในเรื่องการตรวจสิ่งอุปกรณ์ประจำตัว เช่น กระบอง โล่ เครื่องแต่งกายป้องกันตัว ตรวจอาวุธที่อาจเป็นอันตราย และฝึกซ้อมการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ และตรวจยอดกำลังพล สรุปข่าวหรือสถานการณ์ที่ได้รับล่าสุด
๓. ดำรงการติดต่อข่าวสารกับหน่วยเหนือ, หน่วยรอง, หน่วยข้างเคียง และหน่วยสนับสนุน ว่าเหตุหรือสถานการณ์เปลี่ยนไปเช่นไร เช่นกลุ่มผู้ชุมนุมอาจมีระเบิดปิงปอง ให้ระมัดระวัง หรือกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน ให้ผู้ปะทะแถวหน้าสวมเสื้อเกราะป้องกันกระสุนปืน
๔. ปรับปรุงและแก้ไขแผนให้เหมาะสมได้ตามต้องการ และผู้บังคับหน่วยมากล่าวย้ำ ภารกิจโดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ M=E-C(T+T+T) และซักซ้อมครั้งสุดท้าย เรื่อง ระดับการใช้กำลังตามข่าวที่ผู้ชุมนุมจะก่อเหตุ กฎการใช้กำลัง การสั่งเริ่มหรือ เลิกปฏิบัติ จุดนัดพบ หลังการจัดระเบียบใหม่ เมื่อการปฏิบัติ ณ ที่หมายเสร็จแล้ว หรือมีการแตกขบวน พลัดหลง การรักษาพยาบาล สัญญาบอกฝ่าย เป็นต้น
๕. ปฏิบัติภารกิจและบรรจุภารกิจอย่างสมบูรณ์ โดยการตรวจการปฏิบัติ ณ จุดรวมพลขั้นสุดท้าย และเมื่อจะเลิกภารกิจ หัวหน้าหน่วย ต้องมีการตรวจยอดกำลังพล ณ จุดนัดพบ ซึ่งอาจเป็นที่เดียวกับจุดรวมพล เพื่อสำรวจความเสียหาย ดูแลผู้บาดเจ็บ ส่งมอบพื้นที่หรือผู้ต้องหา ของกลาง ให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวน หรือศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า หรือส่งมอบภารกิจให้กับกองร้อยควบคุมฝูงชนที่มาสับเปลี่ยนภารกิจต่อไป
๖.การรายงานหลังการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติภารกิจ เสร็จแล้ว กลับไปที่ที่ตั้งตามปกติแล้ว จะต้องรายงานผลการปฏิบัติ ที่เรียกว่า “รายงานหลังการปฏิบัติ” (After Action Report ย่อว่า AAR) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๖.๑ ลำดับเหตุการณ์ตามระเบียบการนำหน่วยนี้ และผลการปฏิบัติของหน่วยตามเหตุการณ์โดยลำดับ
๖.๒ ข้อที่หน่วยปฏิบัติได้ผลดี หรือการที่หน่วยเหนือ หน่วยข้างเคียง หน่วยรอง หรือศูนย์ปฏิบัติการ ปฏิบัติการได้ผลดี หรือเป็นสิ่งดี ที่ควรจะต้องดำเนินการต่อไปในการปฏิบัติภารกิจภายภาคหน้า
๖.๓ ข้อขัดข้อง สิ่งที่ควรปรับปรุงพัฒนาของหน่วยตนเอง หน่วยเหนือ หน่วยรอง หน่วยข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง
๖.๔ ข้อเสนอแนะทั่วไป และประเด็นปัญหาที่อาจเป็นผลต่อเนื่องจากการปฏิบัติภารกิจ
๑) การขึ้นศาล หรือการส่งมอบพยานหลักฐาน รูปภาพ ที่หน่วยไปปฏิบัติหน้าที่
๒)การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ วิธีปฏิบัติงาน ระเบียบ คำสั่งและกฎหมาย
๓)ข้อแนะนำทางด้านการฝึกอบรม
๔) ข้อแนะนำด้านขวัญและกำลังใจ และการส่งกำลังบำรุง เบี้ยเลี้ยง
-----------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น