วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง

การจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Analysis Management=ARM)
เรียบเรียงโดย พ.ต.อ.ณรงค์ ทรัพย์เย็น
หน่วยสืบสวนสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) ได้จัดทำระบบวิเคราะห์ปัจจัยความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ ดังนี้
1.ขนาดของเหตุการณ์ รวมถึง ความต้องการกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการจัดการเหตุการณ์ ต้องใช้ทรัพยากรระดับใด จำนวนเท่าใด ถ้าเป็นขนาดเหตุการณ์ใหญ่ ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น
2. ภัยคุกคามรวมถึงภัยที่อาจรู้ล่วงหน้า โดยทั้งภัยที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น การก่อการร้าย การชุมนุมประท้วง การมีกิจกรรมประท้วงเช่นจัดแข่งรถแรลลี่เพื่อปาไข่ใส่ผู้นำที่มาร่วมประชุมหรือมาเป็นประธานเปิดงาน หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ
3. ความสำคัญของเหตุการณ์หรืองานที่จัด บางเหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การเมือง และหรือเป็นสัญญาลักษณ์ที่สำคัญที่อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดเป็นเป้าหมายดึงดูดให้เกิดการชุมนุมเรียกร้อง เช่น วันครบรอบเกิดเหตุการณ์ สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ต.ค. หรือเหตุการณ์ชุมนุมเพื่อรำลึก 16 ต.ค.
4.ช่วงระยะเวลาเหตุการณ์ ถ้าเหตุการณ์หรือการจัดงานมีระยะเวลายาว ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ระดับความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขื้นไปด้วย
5.สถานที่ บางสถานที่ที่เกิดเหตุหรืสถานที่จัดงานเป็นสถานที่น่าชี้ชวน ดึงดูดให้บางกลุ่มเป้าหมายหรือคนร้าย อยากเข้าโจมตีหรือก่อเหตุ เช่น รัฐสภา หรือสัญลักษณ์ของเมือง หรือกลุ่มทุน เช่น อาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์นิวยอร์ค อาคารเพ็นตากอนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และหลักการทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อมแล้ว บางเมืองที่เป็นสถานที่จัดงาน มีทางเข้าออกเมืองเพียงสองทาง ควบคุมผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือมีสภาพเป็นเมืองที่ห่างจากเมืองบริวารอื่น ๆหรือเป็นเกาะกลางทะเล เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องจากเมืองอื่นมา ทางการสามารถควบคุมหรือแจ้งเตือนจัดการปัญหากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ง่าย หรือเมืองที่จัดงานผู้คนและผู้นำทางการเมืองเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล หรือมีฐานเสียงรัฐบาลหนาแน่น ก็น่าเชื่อว่าจะไม่มีกลุ่มผู้มาต่อต้านหรือคุกคามการประชุม
6. ผู้เข้าร่วมงาน หมายถึงกลุ่มคนที่มาร่วมงานหรือมาร่วมชุมนุมเรียกร้อง ว่ามีพื้นฐาน ภูมิหลังทางวัฒนธรรม การเมือง และศาสนาอย่างไร ถ้าเมืองนั้นเป็นเมืองฐานเสียงของฝ่ายรัฐบาลก็น่าเชื่อว่าจะมีกลุ่มพลังมวลชนที่จะมาชุมนุมคัดค้านจากคนในพื้นที่เป็นจำนวนน้อย แต่จะมีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก
7. การประชาสัมพันธ์หรือความสนใจของสื่อ หากมีการประชาสัมพันธ์มาก ก็จะจูงใจให้คนบางกลุ่มต้องการช่วงชิงพื้นที่ข่าว เพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือเพื่อสร้างราคาหรือเพิ่มมูลค่าหรือค่าตัวให้กับกลุ่มหรือให้กับตนเอง โดยอาศัยเหตุการณ์ หรือกระแสความเกลียดชังของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่หรือตำรวจ หรือสร้างข่าวจากความดังของงานหรือกิจกรรมสำคัญหรือการชุมนุมที่จะจัดขึ้น
8.ความสำคัญของบุคคลสำคัญที่มาร่วมงาน หากมีบุคคลสำคัญระดับผู้นำประเทศ หรือ ดารามาร่วมงาน ก็จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยตามสถานะหรือระดับภัยคุกคามของแต่ละบุคคลสำคัญ ยิ่งมีบุคคลหรือดารา ที่มีผู้สนใจมาก คลั่งไคล้หรือมีกลุ่มผู้นิยม (FAN CLUB) หรือที่นิยมเรียกว่า “แฟนพันธุ์แท้” เป็นจำนวนมากเท่าใด ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อนำปัจจัยข้างต้นมารวมกันแล้วเพื่อหาค่าเฉลี่ย สามารถจัดกลุ่มของปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและนำมาหาค่าเฉลี่ยของแต่ละปัจจัยรวมได้ดังนี้
1.ภัยคุกคาม (THREAT) คือ ปัจจัยที่ 1, 2, 3, 5, 6, 7, 8 (เว้น 4 )
2.จุดอ่อน (VULNERABILITY) หมายถึง ข้อด้อยของฝ่ายเราหรือฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายจัดงาน คือปัจจัยในข้อ 1, 4 และ 5
3.ผลกระทบ (IMPACT) คือปัจจัยในข้อ 1, 3, 5 ,6 , 7 และ 8 (เว้น 4 และ 2)

หน่วยงานสืบสวนสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา(FBI)ได้คิดระบบการจัดการวิเคราะห์ความเสี่ยง (Analytical Risk Management (ARM) ได้มีการนำปัจจัยทั้ง 3 ตัวมาให้ค่าระดับ 1-4
ค่าระดับ 4 หมายถึง ภัยคุกคามหรือจุดอ่อนหรือผลกระทบที่สูงสุด เช่น ผลกระทบที่ทำให้ผู้มาร่วมงานหรือบุคคลสำคัญที่มาร่วมงานถึงตาย บาดเจ็บหรือทำให้ต้องล้มเลิกการประชุม จุดอ่อนระดับ 4 เช่น ไม่มีระบบการป้องกัน และภัยคุกตามระดับ 4 คือการใช้อาวุธระดับรุนแรงมากสุด เช่น การจลาจลเผาเมือง หรือการใช้อาวุธปืนลอบยิงเป้าหมายสำคัญ
ค่าระดับ 1 หมายถึง การมีผลกระทบภัยคุกคามจุดอ่อนอย่างเบาบาง
ค่าระดับ 2 – 3 เป็นการให้ค่าแบ่งช่วงระหว่างระดับ 1 – 4 ของภัยคุกคามจุดอ่อน และผลกระทบ
สูตรการคำนวณระดับความเสี่ยง(Risk)=ผลกระทบ( Impact)Xภัยคุกคาม(Threat) x จุดอ่อน(Vulnerability) โดยเขียนเป็นสมการได้ดังนี้ R = ITV
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นการจัดประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก มีผลกระทบ(I)ต่อการลงนามลดภาษี เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการประชุมนี้ถ้าลงนามไม่ได้ ประเทศต้องมีเศรษฐกิจถดถอยตลอดไป ดังนี้ ผลกระทบควรจะมีค่าเท่ากับระดับสูงสุดคือ 4
หากมีข่าวว่าจะมีกลุ่มต่อต้านประกาศว่าจะชุมนุมประท้วงเพื่อล้มการประชุมนี้ เพราะเป็นที่ชุมนุมของผู้นำประเทศนายทุน และกลุ่มนี้เคยประท้วงล้มการประชุมรัฐมนตรีองค์การค้าโลก ที่เมืองซีแอตเติ้ลมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1999 ดังนี้ค่าภัยคุกคาม(T) ควรจะอยู่ที่ระดับสูงสุดคือ 4 และ เมืองที่จะจัดการประชุมมีลักษณะเป็นเมืองที่ผังเมืองไม่ดี มีคนจนหรือสลัมมาก แรงงานต่างด้าวมาก เข้าออกประเทศได้ง่าย อยู่ใกล้กับเมืองที่เป็นฐานของกลุ่มก่อการร้าย แต่มีระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ส่วนระบบตำรวจหรือการรักษาความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐานสากล ตำรวจที่ฝึกและเตรียมไว้เพื่อจัดการแก้ไขเหตุชุมนุมประท้วงทั้งประเทศมีเพียง 2 กองร้อย ซึ่งขาดอุปกรณ์ที่ทันสมัยเช่นแก๊สน้ำตา ดังนี้ค่าของจุดอ่อนจึงควรมีค่าเท่ากับ 3 เมื่อนำทั้งสามปัจจัยรวม มาเข้าสมการ R=ITVจะเท่ากับ 4X4X3 =48 ดังนั้นค่าความเสี่ยงคือ 48จากคะแนนเต็ม 64 ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงมากสุด
การตีความค่าระดับคะแนนความเสี่ยง และคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อแก้ไขเหตุ
ระดับคะแนน
ระดับความเสี่ยง
คำแนะนำ
36-64
เสี่ยงมากสุด
1.ควรล้มเลิกภารกิจหรือการจัดงาน
2.หากไม่แก้ไขเหตุปัจจัยในการลดภัยคุกคามด้วยมาตรการด้านการข่าวหรือการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์และเสริมมาตรการในการลดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงสุด เช่น มีการเสียชีวิต หรือการจัดงานสำคัญนี้ต้องล้มเลิก เสียหน้าหรือเสียชื่อเสียงของประเทศ
24-35
เสี่ยงสูง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้มากตามประเด็นที่ได้สำรวจหรือสืบสวนเน้นการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
2.ทำการฝึกซ้อมผู้บังคับบัญชา ศูนย์ปฏิบัติการ เตรียมหน่วยตำรวจ หรือหน่วยกำลังในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น ให้มีความเข้มในการฝึกและผสมกับการสืบสวนเพื่อให้ทราบภัยที่จะเกิดขึ้น ทำแผนเผชิญเหตุ และฝึกซ้อมตามแผนไว้หลาย ๆ กรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ ระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
16-23
เสี่ยงปานกลาง
1.ควรดำเนินมาตรการด้านการข่าวและเสริมมาตรการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ การประชาสัมพันธ์และมาตรการป้องกันให้เหมาะสมกับความสมดุลในความคุ้มค่ากับการลงทุนและผลที่ตอบแทน
2.เตรียมการฝึกซ้อม ทำแผนเผชิญเหตุระดับการใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือภัยคุกคามตามสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(Graduated Response Matrix = GRM)
8-15
เสี่ยงบ้าง
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ให้มากเพื่อสร้างภาพลักษณ์
2.ดำเนินการมาตรการด้านการข่าวเพื่อลดภัยและหามาตรการด้านการป้องกันให้เหมาะกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น
1-7
เสี่ยงน้อย
1.ดำเนินการด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์เพื่อที่จะลดภัยให้มากสุด เสริมความมีเกียรติ น่าเชื่อถือหน้าตาของหน่วยงาน เมือง และประเทศชาติ
2.สร้างความเข้าใจกับประชาชนและเสริมภาพลักษณ์ให้แก่หน่วยงาน เมือง ประเทศชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น