วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนวทางจัดตั้งชุดฟื้นฟูเยียวยา (Family liaison officer)

ชุดฟื้นฟูเยียวยา (Family Investigation Liaison Officer: FILO)
หน่วยตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลียได้จัดชุดตำรวจฝ่ายสืบสวนทำหน้าที่ประสานงานญาติผู้เสียหายหรือเหยื่อ เรียกว่า “Family Investigation Liaison Officer: FILO” ส่วนตำรวจ นครบาลมหานครลอนดอน หรือสก๊อตแลนด์ยาร์ด ใช้ชื่อว่าชุด “Family Liaison Officer: FLO” ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้
1. เป็นทั้งตำรวจในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบแต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบที่ทักษะการสืบสวนด้วย เพื่อให้เป็นที่ไว้วางใจแก่ญาติผู้เสียหาย
2. จะได้รับมอบหมายจากพนักงานสืบสวนผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบคดี
(Senior Investigative Officer :SIO) ให้ทำหน้าที่เป็นชุดประสานงานระหว่างญาติกับตำรวจในคดีสำคัญ เช่น คดีฆาตกรรม หรือคนหาย
3. ตำรวจชุดนี้จะมีจำนวนกำลังพลตามแต่ความซับซ้อนหรือใหญ่ของคดี และใช้ในการรวบรวมข่าวสารหรือพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นผู้ต้องสงสัยด้วยในคราวเดียวกัน
4. ตำรวจชุดนี้ต้องมีทักษะการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งตำรวจชุดนี้จะเป็นบุคคลที่คอยปลอบใจญาติผู้เสียหาย หรือเป็นไหล่ที่ให้ญาติผู้เสียหายซบร้องไห้ (Shoulder to cry on )
5. บางครั้งตำรวจชุดนี้จะช่วยเหลือในการให้ข่าวแก่สื่อมวลชนในกรณีที่ญาติผู้เสียหายไม่ต้องการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และอนุญาตให้ตำรวจชุดนี้ให้สัมภาษณ์แทน
6. ตำรวจชุดนี้จะช่วยเหลือญาติผู้เสียหาย หรือเหยื่ออาชญากรรม หรือญาติบุคคลสูญหายในการขอรับค่าตอบแทน ผู้เสียหาย การขอการคุ้มครองพยานจากตำรวจและหน่วยเกี่ยวข้อง การจัดการศพหรือขอรับศพจากหน่วยนิติเวช หรือป้องกันการนำศพไปเป็นเงื่อนไข (แห่ศพประท้วง)
7. ในกรณีภัยพิบัติจะคอยช่วยเหลือจัดการเกี่ยวกับพิสูจน์เอกลักษณ์ การขอรับเงินประกันภัยหรือเงินช่วยเหลือ
8. ในกรณีการก่อความไม่สงบหรือที่การตาย หรือการสูญหายเป็นเงื่อนไขทางการเมือง ตำรวจชุดนี้จะสร้างความเข้าใจหรือลดเงื่อนไขการนำไปสู่ความไม่สงบ
ตำรวจออสเตรเลียได้นำไปใช้ในกรณีเกิดเหตุสึนามิในประเทศไทย ปี พ.ศ.2547 สึนามิที่ซามัว คนออสเตรเลียเสียชีวิตเมื่อเดือน พ.ย. ค.ศ.2008 ที่เมืองมุมไบ อินเดีย และการช่วยเหลือประสานประชาชนที่ต้องถูกอพยพออกจากสลัมในปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายจากการปฏิบัติการ Operation Neath ที่เมืองซิดนีย์ เมื่อปี ค.ศ.2008
การฝึกอบรม
ควรใช้ชุดชุมชนมวลชนสัมพันธ์ซึ่งมีประจำอยู่ทุกสถานีตำรวจ อย่างน้อยชุดละ 8-12 นาย เมื่อมีเหตุที่ต้องใช้ให้แปรสภาพเป็นชุดฟื้นฟูเยียวยา โดยทำหน้าที่เช่นเดียวกับชุด Family Investigation Liaison Officer: FILO โดยในการเตรียมการควรฝึกอบรม ดังนี้
1. พ.ร.บ.และระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา
2. การคุ้มครองพยาน
3. การรวบรวมพยานหลักฐาน และขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนชั้นอัยการ ชั้นศาล การให้การเป็นพยานชั้นตำรวจ อัยการ และศาล และระเบียบการแจ้งความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนของ ตร.
4. การชันสูตรพลิกศพ หรือพิสูจน์เอกลักษณ์ และการดำเนินคดีเกี่ยวกับการไต่สวน หรือดำเนินการชั้นศาลเกี่ยวกับการชันสูตรพลิกศพ
5. ทักษะการตั้งใจรับฟัง (Active Listening Skill)
6. ศาสนพิธีเกี่ยวกับงานศพ พุทธ อิสลาม คริสต์
7. การต่อต้านการก่อความไม่สงบ
8. วิชาว่าด้วยเหยื่ออาชญากรรม (Victimology)
9. สิทธิของผู้เสียหายตามปฎิญญาสากลของสหประชาชาติ

**********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น